เปิดประสบการณ์ “ฝ้าย” เส้นใยธรรมชาติ สัมผัสแห่งความนุ่มสบาย แบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม วิถีคอตตอนนิสต้า…สู่โลกแฟชั่นที่ยั่งยืน

0
377
image_pdfimage_printPrint

ป็นเวลามากกว่า 7,000 ปีแล้ว ที่เส้นใยธรรมชาติอย่าง “ฝ้าย” ได้ถือกำเนิดขึ้นให้มนุษย์ได้พบกับสัมผัสอันอ่อนนุ่ม เนื่องจากคุณสมบัติอันพิเศษของฝ้ายที่นอกจากจะให้สัมผัสความนุ่มสบายอย่างเป็นธรรมชาติกับผู้สวมใส่แล้ว ต้นฝ้ายยังสามารถปลูกทดแทนได้ และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากฝ้ายก็สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง จึงไม่แปลกใจที่ฝ้ายจะกลายเป็นเส้นใยที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่โลกต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาระดับมนุษยชาติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ฉะนั้นผู้บริโภคในปัจจุบันจึงตระหนักและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสวยงามและฟังก์ชั่นที่ครบครันของสินค้า จนกลายเป็นเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เร็วๆ นี้ คอตตอน ยูเอสเอ ได้จัดกิจกรรม “A Cottonista Trip: Discover The COTTON USA Experience” เพื่อชวนร่วมเปิดประสบการณ์แห่งสัมผัสอันอ่อนนุ่ม และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเส้นใยฝ้ายธรรมชาติคุณภาพสูง 100% จากสหรัฐอเมริกา โดยเผยให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของฝ้ายที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 100% ทั้ง “เมล็ด” ซึ่งสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันเมล็ดฝ้ายเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีโปรตีนสูง ส่วน “กากฝ้าย” สามารถทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ และส่วนไฮไลท์ที่สุดคือ “เส้นใย” ซึ่งจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเส้นด้าย เพื่อส่งต่อไปยังกระบวนการทอผ้าผืน และนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสิ่งทอต่างๆ ที่มีผิวสัมผัสนุ่มสบาย ไม่ระคายเคืองผิว สวมใส่ได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีสภาพภูมิอากาศร้อน อีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี ชุดชั้นใน กางเกงยีนส์ที่เป็นไอเท็มสุดคลาสสิคตลอดกาล รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับใช้ภายในบ้าน เช่น ชุดเครื่องนอนและผ้าขนหนู ไม่เว้นแม้แต่ธนบัตรที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน จากผลการวิจัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของฝ้ายและภาวะโลกร้อน ของ ดร.แอนดริว จี. จอร์แดน พบว่า ต้นฝ้ายที่ปลูกบนพื้นที่ 1 ไร่ ในเวลา 1 ปี สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,300 กิโลกรัม โดยนำมาสังเคราะห์เป็นเส้นใย น้ำมัน โปรตีน เป็นต้น และยังสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ถึง 1,600 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ใช้หายใจได้ถึง 1 ปี เลยทีเดียว

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ที่ทำการเพาะปลูกและส่งออกฝ้ายคุณภาพสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก       ซึ่งมลรัฐเท็กซัสเป็นมลรัฐที่สามารถผลิตฝ้ายได้มากเกือบครึ่งหนึ่งของฝ้ายที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เนื่องจากมีพื้นที่ในการเพาะปลูกมาก และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม โดยวงจรชีวิตของฝ้าย เริ่มจากการเพาะปลูกเมล็ดฝ้ายในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม โดยต้นฝ้ายจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง หลังจากนั้นต้นฝ้ายจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเจริญเติบโตจนดอกฝ้ายกลายเป็นสมอฝ้าย เกษตรกรจึงเริ่มเก็บเกี่ยวและคัดแยกใยฝ้ายและส่งต่อให้กับผู้ผลิตในรูปของฝ้ายดิบที่มีหน่วยวัดเป็นเบลล์ (Bale) เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปไม่ว่าจะเป็นการปั่นด้าย การทอผ้า การตัดเย็บและการจำหน่ายสู่ท้องตลาด”

 

“ซึ่งความพิเศษของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอยู่ที่วิธีการเพาะปลูกตลอดจนวิธีการเก็บเกี่ยว โดยกลุ่มผู้ปลูกฝ้ายสหรัฐอเมริกาได้คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการเพาะปลูก เพื่อให้กระบวนการเพาะปลูกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งการใช้พื้นที่เพาะปลูก ปริมาณน้ำและสารเคมีที่ใช้ ประกอบกับในทุกๆ ขั้นตอนของการผลิตน้อยลง รวมถึงการใช้เครื่องจักรอันทันสมัยมาดำเนินกระบวนการแทนแรงงานมนุษย์ จึงทำให้เส้นใยฝ้ายธรรมชาติจากสหรัฐอเมริกามีคุณภาพสูง ปราศจากสิ่งปลอมปน พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูง สวมใส่สบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง คอตตอน ยูเอสเอ จึงได้ให้สิทธิ์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการติดป้ายสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) บนผลิตภัณฑ์ เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตจาก      ใยฝ้ายธรรมชาติ 100% และมีส่วนผสมฝ้ายสหรัฐอเมริกา คุณภาพสูงไม่น้อยกว่า 50%”

 

“นอกจากนี้ คอตตอน ยูเอสเอ และคอตตอน อินคอร์ปอเรท ยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั่วโลก ในรายงานการสำรวจวิจัยตลาด COTTON USA Global Lifestyle Monitor ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นการสำรวจผู้บริโภคใน 9 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล จีน โคลัมเบีย เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ตุรกี และประเทศไทย เป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยในประเทศไทยนั้นได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ที่เลือกซื้อเสื้อผ้าสวมใส่เอง จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 250 คน และเพศหญิง 250 คน ในช่วงอายุระหว่าง 15 – 54 ปี ที่พำนักอาศัยตามหัวเมืองใหญ่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี หาดใหญ่ และนครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยในยุคปัจจุบันนิยมเสื้อผ้าเบสิคสไตล์มากยิ่งขึ้น ซึ่ง “เสื้อยืด” เป็นคีย์ไอเท็มหลักที่คนไทยนิยมมากที่สุดถึงคนละ 14 ตัว ตามมาด้วยชุดชั้นในสตรีคนละ 12 ตัว กางเกงใน คนละ 11 ตัว กางเกงขาสั้น คนละ 8 ตัว ในขณะที่ “ยีนส์” ยังคงเป็นไอเท็มยอดฮิตที่ครองใจในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยมาติดต่อกัน โดยสัดส่วนจำนวน ไอเท็มยีนส์ที่ผู้บริโภคชาวไทยทั้งเพศหญิงและเพศชายมีไว้ในตู้เสื้อผ้า พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉลี่ยมีกางเกงยีนส์ถึง 6 ตัว ตามมาด้วย ยีนส์ขาสั้น 4 ตัว เสื้อเชิ้ตเดนิม 3 ตัว กระโปรงยีนส์ 2 ตัว เดรสเดนิม 2 ตัว และแจ็กเก็ต 1 ตัว”

 

“ในแง่ของการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จากผลสำรวจเผยให้เห็นว่าคนไทยมีความกังวลและตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อนสูงถึง 96% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รองลงมาคือ ประเทศโคลัมเบีย 95% และประเทศอิตาลี 92% ส่วนปัญหาทรัพยากรแหล่งน้ำ และราคาสินค้าในร้านค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญเป็นอันที่ 2   (ร้อยละ 93) และ 3 (ร้อยละ 91) ตามลำดับ ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศบราซิล สหราชอาณาจักร และ ญี่ปุ่น กังวลเรื่องราคาสินค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับแรกคิดเป็น 88% 80% และ 70% ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้บริโภคคนไทยกว่าร้อยละ 60 ใช้ความพยายามในการหาซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 91 เห็นพ้องต้องกันว่าเส้นใยฝ้ายเป็นเส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 7 ใน 10 ของผู้บริโภคต้องการเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้าย และทำการตรวจสอบป้ายบอกรายละเอียดเส้นใยอย่างน้อยเป็นบางครั้งเมื่อทำการซื้อเสื้อผ้า”

 

“จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณประโยชน์ของเส้นใยฝ้ายธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งการสวมใส่สบาย               ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงอาจสรุปได้ว่า “ฝ้าย” เป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคสมัยนี้ได้อย่างลงตัว รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบทางเลือกสำคัญของวงการแฟชั่นโลก เพื่อก้าวไปสู่วิถีความยั่งยืนในอนาคตได้อีกด้วย” นายไกรภพ กล่าวสรุป

# # #

 

 

เกี่ยวกับคอตตอน ยูเอสเอ (COTTON USA)

เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้รับการออกแบบและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1989 โดย คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ซีซีไอ (COTTON COUNCIL INTERNATIONAL: CCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เนชั่นนัล คอตตอน เคาน์ซิล (National Cotton Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” เป็นสัญลักษณ์ที่      บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คอตตอน ยูเอสเอมีตัวแทนกว่า 26 แห่ง ทั่วโลก ในประเทศไทย “คอตตอน ยูเอสเอ” ทำหน้าที่ขยายฐานกลุ่มไลเซนซี (Licensees) ของคอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิต แบรนด์ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ “คอตตอน ยูเอสเอ” ยังมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจเกี่ยวกับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ ที่สามารถปลูกทดแทน และให้ความสบายเมื่อสวมใส่