ยูบีเอ็มเอเชีย ประเทศไทย ผู้จัดงานซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) ร่วมมือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน จัดทริปศึกษาโรงงานผลิตยาชั้นนำของไทย เพื่อฉายภาพรวมความสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตยาแผนปัจจุบันชั้นนำของโลก เพื่อลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ และเพิ่มความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประชาชน สอดรับกับสังคมสูงอายุของไทยและเอเชีย ก่อนเริ่มจัดงานซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ยาไทยในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางบวกจากอัตราการเติบโตของตลาดที่มีตัวเลขประมาณ 4-7% ต่อปี และมีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท จากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่นำเข้ายาจากไทยเป็นหลัก โดยตลาดยาไทยมีมูลค่าและขนาดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ทว่าการผลิตยาของไทยยังคงเป็นการผลิตในขั้นตอนปลาย ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างประเทศ อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ดังนั้น การสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาไทยใช้งานวิจัยเพื่อพัฒนายา ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เจอกับเจ้าของส่วนผสมยารายใหม่ ๆ จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยาไทยเกิดการพัฒนาและก้าวหน้ายิ่งขึ้น
“ผู้ผลิตยาไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 150 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มีความสามารถในการผลิตยาขั้นปลาย นั่นคือการผลิตยาแบบสำเร็จรูป กล่าวคือ ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นยามาจากต่างประเทศ แล้วดำเนินการผสมหรือผลิตในประเทศ จากนั้นจึงส่งออกขายเพื่อการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในอัตราส่วน 95:5 ของการผลิตทั้งหมด โดยการบริโภคภายในประเทศ จะเป็นการบริโภคผ่านโรงพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80% ของการบริโภคในประเทศทั้งหมด ส่วนอีก 20% คือการบริโภคผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของร้านขายยา ที่มีอยู่มากกว่า 15,000 ร้าน ทั่วประเทศ ส่วนการส่งออก จะเน้นไปยังกลุ่ม CLMV ที่นำเข้ายาจากไทยเป็นหลัก เนื่องจากราคาที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ และจากการดูงานในครั้งนี้ จะพบว่าโรงงานผลิตยาชั้นนำของไทยบางแห่ง มีศักยภาพที่สามารถผลิตส่วนผสมยาเองได้ ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ผลิตยาชื่อ Pyrazinamide และ Ethambutol ซึ่งใช้ในการรักษาวัณโรค อันเป็นผลให้โรงงานผลิตยาแห่งนี้ ได้รับความไว้วางใจจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยา โดยการพัฒนาตนเองจากการผลิตขั้นปลายไปสู่การผลิตขั้นต้นนั้น ต้องใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีรวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น”
โดยนางสาวรุ้งเพชร ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “สืบเนื่องจากการบริการทางสุขภาพของไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก ประกอบกับศักยภาพของผู้ผลิตยาไทยที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน เมื่อมีปัจจัยบวกอย่างการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยและอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการยาเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะจัดงานแสดงส่วนผสมยาซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งงานนี้ จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิตยาไทย ไปพร้อม ๆ กับการสนับสนุนทางธุรกิจ ทั้งการนำเข้าส่วนผสมยาและการส่งออกยา โดยหวังว่าจะทำให้ไทยสามารถก้าวขึ้นเป็น Medical Hub หรือ การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ”
พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จะพบว่าโรงงานผลิตยาของไทยนั้นมีความมั่นคงและได้รับความไว้วางใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนาน สังเกตได้จากการขยายธุรกิจที่เติบโตขึ้น การผลิตยาส่งตรงให้โรงพยาบาล การได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมไปถึงการเป็นผู้ผลิตยาในฐานะ OEM ที่ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ระดับโลก ดังนี้แล้ว จึงไม่มีข้อกังขาในด้านศักยภาพของการผลิต เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้พัฒนาต่อไป เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาสุขภาพและโรคที่เกิดใหม่ของประชากรโลก”
ซีพีเอชไอ 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านส่วนผสมยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตทางการตลาดและมีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 560 ล้านคนที่เข้าถึงด้านการดูแลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย นำไปสู่ความต้องการด้านยาที่เพิ่มขึ้นตาม อันก่อให้เกิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้