จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560 เผยว่าคนไทยผลิตขยะคนละ 1.14 กิโลกรัม ต่อวัน เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับเราผลิตขยะถึง 7.4 หมื่นตันต่อวัน แต่กลับพบว่ามีการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องไม่ถึงครึ่ง ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องจึงเกิดเป็นขยะสะสม เกิดเป็นปัญหามลภาวะ ส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากขยะอุดตันท่อระบายน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในวงกว้าง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณขยะ รวมถึงการกำจัดขยะที่ถูกวิธีเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี จึงได้จัดกิจกรรม “แค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ก็ลดปริมาณขยะลงได้ 2 เท่า ” ภายใต้โครงการ SOOK Activity เพื่อเสนอแนะไลฟ์สไตล์ที่ช่วยลดปริมาณขยะและเทคนิคการจัดการกับขยะในครัวเรือนที่ถูกต้อง พร้อมการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจากของเหลือใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แถมสร้างรายได้ได้อีกด้วย
นงลักษณ์ พรหมสถิต นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขยะที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงทำให้ทุกครัวเรือนจำเป็นจะต้องมีวิธีการจัดการกับขยะที่ถูกต้อง เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปกำจัด ซึ่งรัฐบาลเองได้จัดทำโครงการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” โดยมีเป้าหมาย ต้องลดขยะให้ได้ 5 % และวิธีการจัดการขยะนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎ 3 R คือ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง และยังช่วยให้ประชาชนสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้เหล่านี้ได้
“ขยะนั้นผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ ซึ่งไม่มีวันไหนเลยที่เราจะไม่ทิ้งขยะ เพียงแค่เรากินกาแฟหนึ่งแก้ว ก็ผลิตขยะเพิ่มได้หลายชิ้น ทั้งที่จริงแล้วขยะบางประเภทสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาดัดแปลงเป็นของใช้สิ่งใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้เป็นเงินได้”
เทคนิควิธีการเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า และเพิ่มรายได้นั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษแนะนำว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำเป็นอันดับแรก คือการคัดแยกขยะที่ถูกวิธีก่อน จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยสามารถแบ่งการคัดแยกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ อาทิ เศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ได้จากการนำเศษอาหาร เปลือกผลไม้ ผสมใบ้ไม้แห้งแล้วหมักผสมกัน จะทำให้ได้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
2.ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำมาขายได้ เช่น แก้ว ขวดน้ำ กระดาษ พลาสติก โลหะ และอโลหะ วิธีการจัดเก็บขยะรีไซเคิลทำได้โดย ให้นำถุงใหญ่ หรือ ลังกระดาษมาทำเป็นกล่องมหาสมบัติ และคอยแยกขยะ รีไซเคิลมาใส่ไว้ เมื่อครบสิ้นเดือนค่อยนำออกมาขายแก่ร้านที่รับซื้อ หรือถ้าเป็นกระดาษ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของชิ้นใหม่ๆ เช่น ช่อดอกไม้กระดาษจากกระดาษที่ใช้แล้ว
“ประเภทที่ 3 คือขยะทั่วไป คือขยะที่ไม่ย่อยสลาย อาทิ โฟม ถุงพลาสติก กล่องนม ถุงขนม ฯลฯ ซึ่งของใช้เหล่านี้ใช้เวลาในการย่อยสลายนาน หรือบางอย่างไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่า สร้างรายได้ เช่น กล่องนม นำมาล้าง และตัดให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ ก็จะสามารถนำมาแปรรูปให้เป็นหมวกได้ แม้กระทั่งถุงพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ก็สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาร้อยและเย็บกับผ้าที่เหลือใช้ให้เป็นกระเป๋าในสไตล์ของเรา รวมไปถึงยังสามารถนำมาประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง”
ประเภทสุดท้ายคือ ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีอันตรายต่อตัวคนและสิ่งแวดล้อม อาทิ หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และกระป๋องยาฆ่าแมลง ซึ่งขยะจำพวกนี้ต้องคัดแยกใส่ถังขยะให้ถูกต้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปทำลายอย่างเหมาะสมไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
“จะเห็นได้ว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันลดปริมาณขยะลงได้ โดยเริ่มจากที่ตัวเรา เพียงแค่รู้จักวิธีการคัดแยกขยะ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเพิ่มรายได้ และทำให้พื้นที่ชุมชน ในสังคมของเราเป็นสังคมที่น่าอยู่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น” นงลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ กิจกรรมดีๆแบบนี้ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการ SOOK Activity และดูข้อมูลองค์ความรู้จากกิจกรรมที่ผ่านมาได้ทาง www.thaihealth.or.th/sook , www.facebook.com/sookcenter สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 081-731-8270