1

เทสโก้ โลตัส เปิดตัวคิวอาร์โค้ดบอกที่มาเนื้อหมูและเนื้อไก่สด ครั้งแรกของวงการค้าปลีกไทย

นับเป็นครั้งแรกในวงการค้าปลีกของเมืองไทย ที่เทสโก้ โลตัส ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ได้อย่างง่ายดาย ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่สด หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตัวนวัตกรรมคิวอาร์โค้ดสำหรับสินค้าประเภทผักและผลไม้ในปีที่ผ่านมา

IMG_5743

สัตวแพทย์หญิงวิมลพร ธิติศักดิ์  รองอธิบดี กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า “กรมปศุสัตว์ ได้จัดโครงการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ที่ใช้ในการบริโภค หรือ “e-traceability” เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคให้สูงขึ้น และเพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำธุรกิจค้าปลีกอย่าง เทสโก้ โลตัส ได้สนองนโยบายของกรมปศุสัตว์ ด้วยการเปิดตัว “คิวอาร์โค้ด สินค้าเนื้อสัตว์” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถที่จะอ่านข้อมูลแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่ซื้อได้ด้วยตนเอง เพียงแสกนคิวอาร์โค้ดที่ติดอยู่บนภาชนะบรรจุ นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ก่อประโยชน์ที่สูงสุดแก่ผู้บริโภค”

 

คุณพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการแผนกกฎหมายการค้าและเทคนิค เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “เทสโก้ โลตัส มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และเห็นความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัย เราจึงได้ร่วมมือกับคู่ค้าพัฒนาคิวอาร์โค้ดสำหรับสินค้าเนื้อหมูและเนื้อไก่สด เพื่อระบุข้อมูลเชิงลึกของแหล่งที่มาของสินค้า และข้อมูลโภชนาการ รวมทั้งเมนูอาหารแนะนำอีกด้วย”

 

เมื่อลูกค้าใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ ลูกค้าจะทราบข้อมูลที่ตั้งของฟาร์มปศุสัตว์ซึ่งเป็นที่มาของเนื้อสัตว์นั้น รวมถึงหมายเลขลำดับของผลิตภัณฑ์ล็อตนั้น อีกทั้งยังสามารถอ่านข้อมูลโภชนาการ เช่น ปริมาณความต้องการต่อวัน (Guideline Daily Amounts หรือ GDA) สูตรอาหารแนะนำ และโปรโมชั่นสินค้า

 

“ในช่วงตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ จะเป็นช่วงที่มีความต้องการเนื้อหมูและเนื้อไก่อย่างมาก เรามีความยินดีที่สามารถใช้ระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าแก่ผู้บริโภค และเรายังภูมิใจที่เป็นผู้ค้าปลีกรายแรกในเมืองไทยที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้สำหรับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์” คุณพรเพ็ญกล่าวเสริม

 

ผลวิเคราะห์ล่าสุดของอีริคสัน คอนซูเมอร์ แล็บ พบการเข้าถึงสมาร์ทโฟนในประเทศไทยของผู้บริโภคในตัวเมืองมีอัตราเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 17% ปี 2555 เป็น 36% ในปี 2556 ส่วนการเข้าถึงแทบเล็ตของผู้บริโภคในตัวเมืองมีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัวจาก 2% ปี 2555 เป็น 7% ในปี 2556 เท่ากับเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มด้านการใช้งานสมาร์ทโฟน และแทบเล็ตสูงที่สุดในภูมิภาคนี้

 

ส่วนการใช้งานแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นจาก 40% ปี 2555 เป็น 57% ในปี 2556 ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศลำดับที่ 23 จากทั้งหมด 43 ประเทศที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ได้ร่วมมือกับคู่ค้า ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด  บริษัท เครือเบทาโกร จำกัด บริษัท   กาญจนา เฟรช พอร์ค จำกัด  บริษัท คิวพีเอ็ม จำกัด บริษัท โกลเด้นฟูดส์ สยาม จำกัด เพื่อให้ข้อมูลแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์แก่กรมปศุสัตว์ ในการใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับโครงการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวมีความสมบรูณ์ และเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

 

นอกเหนือจากสินค้าประเภทเนื้อสัตว์แล้ว เทสโก้ โลตัส ยังได้พัฒนาคิวอาร์โค้ด บอกแหล่งที่มาของผักผลไม้สด 60 ชนิด และจะเดินหน้าเพิ่มสินค้าอาหารสดที่มีคิวอาร์โค้ดอีกด้วย

 

เทสโก้ โลตัส ยังมุ่งมั่นที่จะนำเสนอสินค้าสดคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภค โดยการพัฒนาระบบซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งรวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าตั้งแต่แหล่งผลิต ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดเก็บ การวางจำหน่ายในร้าน ก่อนส่งถึงมือลูกค้า