ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งโรคยอดฮิตที่ต้องระวังเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น “โรคไข้เลือดออก” โรคร้ายที่มียุงร้ายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ “ไข้เลือดออก” เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้นอย่าง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้มาก เพราะโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างแน่ชัด เป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิด โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก ดังนั้นในช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน จะมีผู้คนป่วยเป็นไข้เลือดออกจำนวนมาก เฉลี่ยปีละ 100,000 คน ดังนั้นทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับการรณรงค์ป้องกันการเกิดไข้เลือดออกอย่างมาก
ล่าสุด เด็กไทยหัวใจจิตอาสา “น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนานาชาติฮาโรว์ ประธานกลุ่มจิตอาสา The Lion Heart Society ผุดไอเดียเก๋คืนสู่สังคม ร่วมรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออก โดยการส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาหางนกยุง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์” เล่าว่า ผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะปลาหางนกยูง เพราะเป็นปลาขนาดเล็กที่มีสีสวยโดยเฉพาะตัวผู้ที่หางยาว มีลวดลาย และสีสันสวยมาก นอกจากนี้ยังเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทน เลี้ยงที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องดูแลมากมาย จนเมื่อช่วงปลายปี 2558 ถึง ต้นปี 2559 มีข่าว พี่ปอ ทฤษฎี ป่วยหนักจากโรคไข้เลือดออกจนเสียชีวิต ตอนนั้นทำให้ผมเริ่มสนใจมากว่าไข้เลือดออกคืออะไร เกิดได้ยังไง ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ว่าไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยติดเชื้อไข้เลือดออกปีละ 100,000 คน
สำหรับการป้องกันไข้เลือดออก โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จะนำสารเคมีไปพ่นตามบ้านเรือน และตามแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นก็ตกค้าง และเป็นอันตรายต่อประชาชน ดังนั้น ผมจึงเกิดไอเดียว่า ถ้าเราใช้ปลาหางนกยูงเป็นตัวกำจัดลูกนํ้ายุงลาย ก็จะเป็นตัวเลือกนึงที่มีประโยชน์ ราคาถูกและปลอดภัยกว่า เพราะปลาหางนกยูงเลี้ยงง่าย ทน แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถอาศัยอยู่ตามแหล่งนํ้าที่ไม่สะอาดที่มีออกซิเจนตํ่าซึ่งปลาอื่นอยู่ไม่ได้ การนำปลาหางนกยูงไปปล่อยตามบริเวณแหล่งนํ้าที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงเป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถกำจัดลูกนํ้ายุงลายได้เป็นอย่างดี ผมจึงได้
รณรงค์เรื่องดังกล่าวและนําปลาหางนกยูงที่ผมเพาะเลี้ยงไว้ไปแจกชาวบ้าน ทั้งในบริเวณชุมชนแออัด ที่ไข้เลือดออกระบาด และตามโรงเรียนในต่างจังหวัดที่ผมไปช่วยเหลือ โดยให้ความรู้เรื่องนี้แก่เด็กๆด้วย
ด้าน นางไทย วัลชญากุล อายุ 56 ปี ข้าราชการศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค กล่าวว่า เมื่อก่อนแถวบ้านดิฉันมีไข้เลือดออกระบาด ซึ่งลูกของดิฉันก็เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกด้วย เนื่องจากบริเวณรอบบ้านดิฉันเป็นชุมชนแออัด เวลาฝนตกจะมีน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะไข้เลือดออก โดยในฤดูฝนไข้เลือดออกจะระบาดหนักมาก การที่น้องพีทมาช่วยแนะนำวิธีการกำจัดลูกนํ้ายุงโดยปล่อยพันธุ์ปลาหางนกยูงตามแหล่งนํ้าเหล่านี้เพื่อกินลูกนํ้า จึงทำให้เราสบายขึ้นมาก ยุงก็น้อยลง ทั้งยังเป็นวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดยุงอย่างเมื่อก่อน เพราะปลาหางนกยูงก็เลี้ยงง่าย แพร่พันธุ์เร็ว ไม่ต้องดูแลอะไร พอปลาออกลูกเยอะๆ ก็แบ่งไปแจกให้เพื่อนบ้าน ได้รับประโยชน์กันทั่วถึง เด็กๆ ก็ชอบเพราะปลาหางนกยูงสวย สามารถเลี้ยงปลาหางนกยูงเป็นงานอดิเรกอีกด้วยค่ะ..”