“เด็กเล่นอิสระ” ความสุขพื้นฐานสู่การพัฒนาสมอง
สสส. จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน “Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก” หนุนเด็กไทยเล่นอิสระ เติมเต็มสิ่งที่กำลังขาดหายในสังคมยุคดิจิทัล ที่มุ่งให้เด็กเรียนเก่ง แต่ขาดช่วงเวลาแห่งความสุข แนะพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ ได้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน สร้างความสุขพื้นฐานชีวิตเพื่อให้เด็ก เติบโตอย่างมีคุณภาพ
เพราะการเล่นสำคัญ ขอเพียงผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ได้ปลดปล่อยจินตนาการ เพิ่มเติมประสบการณ์ และพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องคาดหวังอะไร เพียงดูแลเรื่องความปลอดภัย ก็จะได้รู้ว่าการเล่นมหัศจรรย์เกินกว่าที่เราคาดคิด
นี่เป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน “Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก” ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับเครือข่ายการเล่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข สาธารณสุขศูนย์ 5 สำนักงานเขตปทุมวัน คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาฯ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เครือข่ายครูมหัศจรรย์ We Are Happy มูลนิธิเมล็ดฝัน และเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานอเวนิว โซน A MBK Center กรุงเทพฯ
โดยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายแนวคิดการเล่นอิสระ และขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิการเล่นในประเทศไทย เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอิสระมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในงานจัดมุมเล่นต่างๆ ที่ใช้ธรรมชาติ วัสดุสิ่งของหลากหลาย ของรีไซเคิล เครื่องเล่น จำนวน 6 โซน ประกอบด้วย 1.โซนประดิษฐ์ คิดค้น MBK SPIRIT ชวนสนุกกับของเล่นรีไซเคิล 2.โซนเสริมสร้างความมั่นใจวัยซน 3.โซน Loose part 4.โซนเล่น ATR SPACE 5.โซน Floor Play และ 6.โซนมุมทราย
นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน และขับเคลื่อน ในครั้งนี้ กล่าวว่า สสส. เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อดิจิทัลล้ำหน้าส่งผลให้การเล่นของเด็กกำลังจะหายไป ถ้าไม่มีใครสักกลุ่มทำหน้าที่เป็นกำแพงเหล็ก การเล่นอย่างอิสระ เล่นอย่างธรรมชาติจะถูกลดคุณค่า ทั้งที่การเล่นเป็นคุณของมนุษยชาติ เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ
“พ่อแม่เป็นพลังสำคัญที่จะชวนลูกเล่นแต่ก็มีข้อจำกัด ดังนั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกให้กลุ่มพ่อแม่ ทุกห่วงโซ่หากทำหน้าที่ร่วมกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะปกป้องเด็กๆ ให้มีต้นทุนชีวิตเรื่องการเล่นจะดำเนินต่อไปไม่ว่าสื่อดิจิทัลจะก้าวล้ำไปขนาดไหน การที่มีเครือข่ายลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยมีสสส.เป็นผู้สนับสนุน เป็นการทำภารกิจที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามาคุกคามชีวิตเด็กๆ งานนี้เหมือนปลูกเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะเห็นผลเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่”
ด้าน น.ส.ประสพสุข โบราณมูล ผู้จัดการฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงความหมายของการเล่นอิสระว่า เป็นการเล่นที่เด็กได้ออกแบบเอง ได้คิดค้นวิธีเล่นกับสิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และการเล่นเป็นพื้นฐานชีวิตของเด็ก เด็กจะมีความสุขเมื่อได้เล่น จึงเป็นการเปิดทางให้เด็กได้พัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน ผู้ปกครองจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นอย่างอิสระ
ขณะที่ น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงความสำคัญของการที่เด็กได้มีโอกาสเล่น ว่า นอกจากเป็นการเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนโลกใบนี้ด้วย เพราะการเล่นสอนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักจัดการเมื่อเกิดความขัดแย้ง หลายประเทศจึงเรียกร้องให้เด็กมีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ มากกว่าการเรียนการแข่งขันกัน
“นักคิดหลายประเทศพบว่า ถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกนี้จะมีสันติภาพ แล้วก็มีงานวิจัยที่เขาศึกษาและพบว่า ความรุนแรง อาชญากรรมหรือปัญหาสังคมต่างๆ มันเริ่มขึ้นเพราะว่าเด็กมีโอกาสได้เล่นน้อยลง คำว่าโอกาสมีความสำคัญมากๆ เพราะตอนนี้สังคมได้พรากโอกาสในการเล่นของเด็กไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันที่สูง เด็กๆ ต้องเรียนหนัก พ่อแม่คาดหวังว่าลูกจะต้องเก่ง
เวลาไปสัมมนาเรื่องการเล่นระดับสากล ซึ่งมีคนหลายอาชีพได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเด็กได้เล่น เด็กจะรู้จักการอยู่ร่วมกัน หากเกิดความขัดแย้งต้องทำอย่างไร รู้จักการแก้ไขปัญหา การเล่นจะทำให้เด็กได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง ฉะนั้นนักคิดหลายประเทศจึงยืนยันว่าถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกจะมีสันติภาพ” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว
ในปัจจุบันเรื่องการเล่นในประเทศไทยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลายอย่างเช่น 1.ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นเพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและคนในสังคม 2.ขาดการออกแบบพื้นที่เล่นหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก 3.ขาดการจัดการดูแล เรื่องการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสม 4.ขาดพลังการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก 5.ขาดกลไกผู้ดูแลการเล่นที่จะเป็นพลังและเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย
การจัดกิจกรรม “วันเล่น” (PLAY DAY) หากผู้ปกครองเข้าใจสาระสำคัญ เชื่อว่าเด็กไทยจะไม่ได้เรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย