เดลล์ เผยเทรนด์ “Digital Transformation” คือดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการเป็นองค์กรแห่งอนาคต

0
573
image_pdfimage_printPrint

JOM2040

เดลล์ ชี้เทรนด์ธุรกิจ และเทคโนโลยีเคลื่อนสู่ยุค “การพลิกโฉมธุรกิจไปสู่ดิจิตอล” (Digital Transformation) ระบุเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงคือ คลาวด์ ข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ (Big Data/Analytic) โซเชียล เน็ตเวิร์ค โมบิลิตี้ และ IoT เตรียมจัดทัพรุกให้คำปรึกษา พร้อมช่วยองค์กรธุรกิจเปลี่ยนโฉมทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยเพื่อรับธุรกิจรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกัน เปิดผลการวิจัยภายใต้ “ดัชนีชี้วัดความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Ready Index)” เผยบริษัทที่ลงทุนใน คลาวด์ โมบิลิตี้ ซีเคียวริตี้ และบิ๊กดาต้า โตเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้มากกว่า 50%

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไป ภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า จากการวิจัยของฟอเรสเตอร์ คอนซัลติ้ง เทคโนโลยี และแรงผลักดันต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจช่วยทำให้ลูกค้าสามารถเพิ่มการควบคุมการมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจ และองค์กรได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องการที่จะเข้าใจ และมีความสามารถในการให้การดูแลลูกค้าในระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ต่างเผชิญการการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจด้วยดิจิตอล ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการลงทุนในเทคโนโลยี และรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ที่จะมุ่งให้ความสนใจไปที่ประสบการณ์ลูกค้า (customer experience) เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ไอดีซีได้คาดการณ์ว่าจำนวนองค์กรธุรกิจที่มีแผนที่จะริเริ่มดำเนินการในด้านดิจิตอล ทรานฟอร์เมชันจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในปี 2663 จากปัจจุบัน 22% เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 50%.

เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจต่างๆ สามารถตอบรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลง Digital Transformation ได้อย่างสมบูรณ์ เดลล์ ประเทศไทยแบ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรกคือการเดินสายให้ความรู้ กระตุ้นให้องค์กรธุรกิจตระหนัก และตื่นตัวกับเทรนด์ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการดำเนินธุรกิจ เพื่อองค์กรธุรกิจได้เตรียมความพร้อม ในการหาสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง สำหรับการดำเนินงานในส่วนที่สอง เดลล์ ประเทศไทยพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องการทำ transformation โดยนำโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

“บางองค์กรอาจเริ่มต้นไม่ถูก หรือไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นอย่างไร เรามีทีมทำงานด้านดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชันที่สามารถให้คำแนะนำ และทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม และดีที่สุด โดยในขั้นเริ่มต้น เราเริ่มให้คำปรึกษา และทำงานร่วมกับลูกค้าแล้วอย่างน้อย 5 รายในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เฮลธ์แคร์ ค้าปลีก (Retail) ตลอดจนธุรกิจการประมวลผลข้อมูล เป็นต้น

จากการทำนายของทั้งไอดีซี การ์ทเนอร์ และฟอเรสเตอร์ จะมีเทรนด์เชิงกลยุทธ์ 3 รูปแบบ และเทคโนโลยี 3 กลุ่ม ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชันในทศวรรษนี้ ซึ่งเทรนด์ และเทคโนโลยีที่กล่าวถึงคือ การวิเคราะห์บิ๊ก ดาต้า(big data analytics) อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)

นายอภิชาติ อัศวาดิศยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจองค์กร เดลล์ อินโดจีน กล่าวว่า ธุรกิจดิจิตอล (Digital Business Revolution) คือคลื่นลูกถัดมาของการพัฒนาทางด้านไอที ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความซับซ้อน โดย 4 เทคโนโลยีหลักที่จะเข้ามามีบทบาท ได้แก่ คลาวด์ โมบิลิตี้ การวิเคราะห์ (Big Data/Analytic) และการรักษาความปลอดภัย (security)

เพื่อช่วยให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบของการทำธุรกิจ และของเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทในการสร้างประสิทธิภาพ และความได้เปรียบให้กับองค์กร เดลล์ได้ทำวิจัย รวมถึงร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับโลกเพื่อศึกษา “ดัชนีชี้วัดความพร้อมขององค์กรธุรกิจสำหรับอนาคต” ซึ่งรวมถึง “ดัชนีการใช้เทคโนโลยีทั่วโลก Global Technology Adoption Index (GTAI) ประจำปี 2015 ซึ่งเดลล์จัดทำเป็นปีที่สองอีกด้วย

ทั้งนี้ GTAI ได้ทำการสำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจ และด้านไอที ขององค์กรขนาดกลางทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจถึงการตระหนักรู้ และการวางแผน รวมถึงการนำ 4 เทคโนโลยีหลักมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ได้แก่ เทคโนโลยีคลาวด์ โมบิลิตี้ ซีเคียวริตี้ และบิ๊กดาต้า เป็นสำคัญ ซึ่งผลของการสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง 4 อย่างจริงจัง กำลังมีอัตราเติบโตของรายได้สูงกว่าองค์กรที่ไม่ได้ลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ถึง 53 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ การสำรวจของ GTAI 2015 พบความเกี่ยวเนื่องระหว่างเทคโนโลยี และประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงเป้าหมายด้านการเติบโต โดยข้อมูลระบุชัดเจนว่าการเพิ่มของประสิทธิภาพ และสมรรถนะในการทำงานที่ได้จากโมบิลิตี้คือสิ่งที่เอื้อประโยชน์มากที่สุดให้กับองค์กร (39 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ประโยชน์สูงสุดที่ได้จากคลาวด์ คือ การช่วยประหยัดต้นทุน (42 เปอร์เซ็นต์) การช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ สำเร็จได้ในเวลาอันสั้น (40 เปอร์เซ็นต์) และการทำให้การกระจายทรัพยากรด้านไอทีทำได้ดีขึ้น (38 เปอร์เซ็นต์)

ในขณะที่ผลประโยชน์หลักๆ ที่มาจากบิ๊ก ดาต้าที่เกี่ยวเนื่องกับความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะครอบคลุมถึงความสามารถในการวางเป้าหมายเพื่อการดำเนินการทางการตลาดที่ดีขึ้น (41 เปอร์เซ็นต์) การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการใชจ่ายด้านโฆษณา (37 เปอร์เซ็นต์) การใช้ประโยชน์สูงสุดจากการตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย (37% เปอร์เซ็นต์)และในทางเดียวกัน สำหรับการรักษาความปลอดภัย หรือซีเคียวริตี้ ความสามารถในการตอบสนองต่อเงื่อนไขทางการตลาด ถือเป็นผลประโยชน์หลักเลยทีเดียว (77 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรที่มีโปรแกรมการรักษาความปลอดภัยด้านไอที และ 78 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรที่มีการใช้งานโซลูชันด้านซีเคียวริตี้)

นายธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการประจำประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ ในยุคของดิจิตอล ทรานส์ฟอเมชัน อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ และเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการนำ IoT เข้ามาใช้ในการทำงานร่วมกับดีไวซ์ต่างๆ เพื่อให้รูปแบบการทำงาน หรือการใช้เทคโนโลยีโมบิลิตี้ขององค์กร (Enterprise Mobility) มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากบทความของไอดีซี ในหัวข้อ “IoT and Enterprise Mobility A Bright Future” อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งส่งผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อรูปแบบที่องค์กรธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากการอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมเข้าหากันในการเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ โดย IoT จะมีบทบาทในการเข้ามาทำให้การทำงานทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วยการผสานอุปกรณ์โมบาย คอมพิวเตอร์สำหรับสวมใส่ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนทำงานในการที่จะได้รับข้อมูล และทำงานประสานกันได้มากขึ้น องค์กรธุรกิจจะพึ่งพาอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อ รวมถึงระบบการวิเคราะห์ (Big Data/Analytic) ในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถสูงสุดให้กับกระบวนการในการทำงาน ไปจนถึงการตัดสินใจที่เกี่ยวเนื่องกับการตลาด และกลยุทธ์การบริหารจัดการมากขึ้น

“และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนที่จะทำให้การทำงานระหว่าง IoT และโมบิลิตี้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง คือบิ๊ก ดาต้า ในการทำงานของ IoT สิ่งต่างๆ ที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ โมบาย ดีไวซ์ รวมทั้งโมบาย แอพพลิเคชัน จะผลิตข้อมูลเป็นจำนวนมหาศาลออกมาในแต่ละวัน เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลเหล่านี้ องค์กรจำเป็นต้องมีดาต้า สตอเรจขนาดใหญ่ ที่มีความสามารถในการประมวล และวิเคราะห์ เพื่อที่จะเปลี่ยนข้อมูลดิบของโมบาย IoT ให้เป็นข้อมูลในทางปฏิบัติเชิงลึกสำหรับองค์กร ซึ่งการทำงานร่วมกันของ IoT โมบิลิตี้ และบิ๊ก ดาต้านี้ จะช่วยให้องค์กรได้รับผลประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์เพื่อประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทำงาน รวมทั้งสร้างแหล่งผลิตรายได้ใหม่ให้กับองค์กร” นายธเนศ กล่าว