เดลต้า จัดงานมอบประกาศนียบัตร “DELTA Automation Academy 2017”

0
506
image_pdfimage_printPrint

หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยและโลก เยาวชนนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 220 คน ได้มาร่วมงานมอบประกาศนียบัตร “DELTA Automation Academy 2017” พร้อมทั้งเปิดเวทีความคิดของนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เรื่อง “นักศึกษาไทยเปิดใจ…ไทยแลนด์ 4.0” (Empowering the next generation to Thailand 4.0) เกี่ยวกับบทบาทคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืนสู่ไทยแลนด์ 4.0 จัดโดย บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และ 5 มหาวิทยาลัยของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นเจ้าบ้านต้อนรับ

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Assoc.Prof.Dr.Komsan Maleesee) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในฐานะเจ้าบ้านต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเป้าหมายของคนไทยทุกคน ที่ผ่านมามีแต่ผู้ใหญ่มาแสดงข้อคิดเห็นถึงไทยแลนด์ 4.0 ในการจัดงานครั้งนี้ 5 มหาวิทยาลัยและเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จึงได้เปิดเวทีให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ไทยแลนด์ 4.0 เป็นจริง ได้มาแสดงข้อคิดเห็นและได้มีส่วนร่วมในการนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และต่อเติมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 การเตรียมพร้อมของนักศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะทั้ง 5 สถาบันเป็นเสาหลักด้านการวิจัยและพัฒนา หัวใจของความสำเร็จไทยแลนด์ 4.0 คือการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่และทุกภาคส่วน

มร.เซีย เชน เยน (Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ “DELTA” กล่าวว่า ในกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งมุ่งเน้นคุณภาพ ประหยัดพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องการประสิทธิภาพและลดการปล่อยคาร์บอน เรากำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สู่Industry 4.0 และไทยแลนด์ 4.0 โดยทุกคนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น รอดพ้นจากผลกระทบภาวะโลกร้อน ดังนั้นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและใช้องค์ความรู้ต่างๆในการแก้ปัญหาโดยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้เติบโตอย่างมีดุลยภาพกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือสังคมและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรคนรุ่นใหม่และผู้เชี่ยวชาญที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปร่วมพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ดร.อนุสรณ์ มุทราอิศ (Dr.Anusorn Muttaraid) กรรมการบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ “DELTA” กล่าวว่า โครงการ Delta Automation Academy ได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยและพัฒนาศักยภาพของเหล่าเยาวชนนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและได้ฝึกปฏิบัติจริง ควบคู่ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม ผสมผสานศาสตร์ต่างๆ โดยมุ่งหวังว่านักศึกษาทั้งหลายที่ผ่านการอบรมจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งดีมีประโยชน์ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้และต่อยอดนวัตกรรม สามารถช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ในอนาคต

ในงานมอบประกาศนียบัตร “DELTA Automation Academy 2017” นี้ยังเปิดบนเวทีความคิดของนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย เรื่อง “นักศึกษาไทยเปิดใจ…ไทยแลนด์ 4.0” (Empowering the next generation to Thailand 4.0) เกี่ยวกับบทบาทคนรุ่นใหม่กับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืนสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย 5 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ดังนี้

กรวิชญ์ สังข์แก้ว (Mr.Koravich Sangkaew) นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมาย Thailand 4.0 ซึ่งมุ่งพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายคนไทยทุกคนและต้องพร้อมใจกันลงมือทำตั้งแต่วันนี้ นักศึกษายุคใหม่ไม่เพียงแต่มีความรู้ในสาขาวิชาที่เรียนอย่างเดียว แต่ควรเรียนรู้พหุศาสตร์อื่นๆเพื่อเชื่อมโยงและดึงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เขียนโปรแกรมซึ่งสำคัญมากในยุค Industry 4.0 รวมทั้งความรอบรู้ทางด้านบัญชี การตลาด นิเทศศาสตร์ ในยุค Thailand 4.0 ผมอยากเห็นโครงข่ายของระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะในอนาคตนั้นความต้องการของพลังงานไฟฟ้านั้นจะมีสูงอย่างแน่นอน รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บ้านทุกบ้านจะต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เราควรพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการของไฟฟ้าในอนาคตครับ

สุวิมล เหรียญตระกูลชัย (Ms.Suvimol Reintagulchai) นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า รู้สึกดีใจค่ะที่ได้เห็นความร่วมมือของภาคประชารัฐและภาคการศึกษาในวันนี้ ดังเช่น 5 มหาวิทยาลัยและเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ร่วมมือสนับสนุนกับ ในยุคที่เรามุ่งจะก้าวไกลไทยแลนด์ 4.0 อยากจะเห็นการพัฒนาความร่วมมือกันของภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและต่อเนื่องไม่ใช่ทำๆแล้วหยุด หรือแล้วแต่นโยบายรัฐบาลแต่ละชุด ในทุกๆปีจะมีงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ดีๆมากมายที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยนักศึกษาไทย แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นแค่กระดาษส่งอาจารย์ ซึ่งถ้างานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนหรืออุปกรณ์ หรือโอกาสในการนำแสดงผลงานสู่สาธารณชนแล้ว คนไทยก็จะได้ประจักษ์ว่า “คนไทยเอง ก็สามารถทำสิ่งที่ต่างชาติทำได้เหมือนกันและบางเรื่องก็ทำได้ดีกว่า” คนไทยก็จะได้ภูมิใจในคนไทยและความเป็นไทย นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง ลดการนำเข้าและซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศ

พีรวัส เริงฤทธิ์รณชัย (Mr.Peerawat Rengritronachai) หนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การจะพัฒนาสู่ Thailand 4.0 ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก สิ่งที่นักศึกษารุ่นเราจำเป็นต้องมี knowledge and skills หมั่นหาความรู้และทักษะการทำงาน, Life long learning ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง, Integrative thinking รู้จักคิดแบบผสมผสาน นำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และ Social Response สนใจความเป็นไปในสังคมและนำความรู้ที่มีไปตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ผมจึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนการให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้เข้าไปฝึกฝนและทำงานร่วมด้วย ทุกองค์กรต้องผสมผสานประสบการณ์ความรู้ความสามารถของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ด้วย จะช่วยให้อนาคตประเทศของเราพัฒนาไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

กรชนก เชาวรัตน์ (Ms.Kornchanok Chaowarat) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์ ดิจิตอล กระบวนการผลิต จะทำงานร่วมกัน ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว คุณภาพและประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การใช้ระบบหุ่นยนต์ในการทำงานนั้น จะเป็นอีกก้าวของการพัฒนาระบบการทำงานจากรูปแบบเดิมๆไปอีกขั้นหนึ่ง เช่น ระบบอาคารจอดรถยนต์อัตโนมัติ เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดในการประยุกต์องค์ความรู้ข้างต้นให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน การเป็นนักศึกษายุคดิจิตอลมีข้อดีคือ ความรู้ของเรายังคงสดใหม่ เมื่อบวกกับมุมคิดของคนรุ่นใหม่ซึ่งมักจะมีทักษะด้านดิจิตอลเป็นพื้นฐาน กล้าคิด กล้าทำ มีไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อเรานำความรู้เชิงวิศวกรรมและความคิดสร้างสรรค์สองสิ่งนี้มารวมกัน จะกลายเป็นเส้นทางที่เราจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆออกมา เป็นพลังขับเคลื่อนของประเทศได้ค่ะ

ปัฐวิศา ตั้งตรัสธรรม (Ms.Pattavisa Tangtrustham) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่และนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ เราเรียนรู้สู่ยุค Thailand 4.0 ในเชิงที่ว่า พัฒนาตนเองให้ก้าวทันเทคโนโลยี นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ วิจัยและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ออกมาโดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์แก้ปัญหาได้จริงในปัจจุบันและตอบโจทย์อนาคต มีความคิดว่าในอนาคตอยากทำสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยเหลือมนุษย์ในสิ่งที่ทำไม่ได้ เช่น สร้างหุ่นยนต์มาช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งที่สนใจในตอนนี้เป็นพิเศษก็คือ RF Energy Harvesting คือการนำ Wifi มาทำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกำลังศึกษาและอยากจะพัฒนาต่อยอดไปในอนาคตค่ะ