1

“เซียวซาน” จากเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิมในหางโจว สู่เขตเศรษฐกิจดิจิทัลอันดับต้นของจีน

เซียวซาน เป็นเขตอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ทรงอิทธิพลในนครหางโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ในภาคตะวันออกของประเทศจีน โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เซียวซานได้เสนอแผนพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ สู่ยุคดิจิทัล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะเขตเศรษฐกิจดิจิทัล

ในงานประชุมว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ผ่านมา เซียวซานได้ประกาศเป้าหมายที่จะยกระดับทั้งขนาดและมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมหลักในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเขตเซียวซานในช่วง 4 ปีข้างหน้า พร้อมสร้างเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารและเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมูลค่าสูงกว่า 1.20 แสนล้านหยวน และ 7.2 หมื่นล้านหยวน ตามลำดับ ภายในปี 2565

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเขตเซียวซาน พร้อมกับการเกิดขึ้นของดาวดวงใหม่แห่งยุคดิจิทัลอย่าง NetEase, SenseTime และ iFLYTEK ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริษัทดิจิทัลชั้นนำ เช่น WeDoctor และ SHINING 3D ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมพิเศษ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การแพทย์อัจฉริยะ และบิ๊กดาต้าด้านอุตสาหกรรม ที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปร่าง นอกจากนี้ ธุรกิจการผลิตอัจฉริยะก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

นาย Tong Guili สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ประจำเทศบาลเมืองหางโจว และเลขาธิการ CPC ประจำเขตเซียวซาน กล่าวว่า เขตเซียวซานจะรุกเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเขตนิเวศที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลกับการผลิต เมืองและผู้คน เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้บุกเบิกและผู้นำในการสร้างเมืองเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งแรกของประเทศ

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุม ได้มีการเปิดตัวโครงการ China V Valley (V มาจากคำว่า Visual, Vision และ Video หรือ จินตภาพ วิสัยทัศน์ และวิดีโอ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเขตเซียวซาน ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะสร้างกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระดับโลกว่าด้วยเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่คอมพิวเตอร์วิทัศน์และเทคโนโลยีแมชชีนวิชั่น ผ่านทางการพัฒนาระบบนิเวศห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอัลกอริทึม ชิป อุปกรณ์ และแพลตฟอร์ม ร่วมกับสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมทั้งจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรับรู้ทางสายตา การมองเห็นที่คมชัดทุกรายละเอียด และการใช้งานเทคโนโลยีด้านภาพในรูปแบบต่าง ๆ