1

เช็คอิน “ดอยตุง” 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของไทย…ที่ห้ามพลาด!!

ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดเชียงรายไปแล้ว ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยแต่ยังสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกสำหรับ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า จากพระราชปณิธาน “ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง” เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต พร้อมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ที่มากด้วยมนต์เสน่ห์โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและสายหมอก สามารถไปเที่ยวได้ทุกช่วง ทุกฤดู สถานที่ซึ่งมีประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ มากมายรอให้ทุกคนไปสัมผัสกันแบบใกล้ชิด ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

จนล่าสุด กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศให้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็น 1 ใน 10 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของไทยที่ห้ามพลาด!! เพราะเป็นสถานที่ให้ความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไป จนสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติ วันนี้เลยจะพาไปเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวที่มากไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมแห่งนี้

เริ่มจุดแรกจากการกราบสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่า ณ พระตำหนักดอยตุง สถานที่ประทับทรงงานของสมเด็จย่า เมื่อครั้งทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เมื่อปี 2531 เป็นอาคารที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบสวิสชาเลต์ (Swiss Chalét) กับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ประกอบด้วยไม้แกะสลักโดยฝีมือสล่าพื้นบ้าน (ช่างฝีมือ) ระเบียงด้านหลังประดับด้วยดอกไม้สวยงาม ด้านหน้าจัดเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ มองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลไปถึงแม่น้ำโขง และทิวเขาฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายในตกแต่งแบบเรียบง่าย สง่างาม เน้นประโยชน์ใช้สอยอย่างพอดี สะท้อนพระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายของเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน ตัวพระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและเปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมได้ทุกวัน

จุดต่อมาทางทิศเหนือของพระตำหนักดอยตุงจะพบ สวนแม่ฟ้าหลวง สวนไม้ดอกไม้หลากสีสัน กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บนพื้นที่ 25 ไร่ ภายในสวนถูกตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม ดูแลอย่างดี ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกดอกตลอดปี กลางสวนเป็นที่ตั้งของประติมากรรมชื่อ “ความต่อเนื่อง” (Continuity) สมเด็จย่าพระราชทานชื่อนี้ เพื่อสื่อความหมายว่า การทำงานใดๆ จะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผลงานของ มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชื่อดังของไทย ในสวนแม่ฟ้าหลวง ยังมีคอลเลกชั่นกล้วยไม้รองเท้านารี ดอกไม้ทรงโปรดของสมเด็จย่า

และมีกิจกรรมผจญภัยบนทางเดินเรือนยอดไม้ “Doi Tung Tree Top Walk” ซึ่งสูงกว่า 30 เมตร ระยะทาง 297 เมตร ให้นักท่องเที่ยวได้เดินศึกษาพรรณไม้และสัมผัสบรรยากาศท่ามกลางป่าร่มรื่นในสวนแม่ฟ้าหลวงอย่างใกล้ชิด

อีกจุดที่พลาดไม่ได้คือ หอแห่งแรงบันดาลใจ นิทรรศการสื่อผสมผสานที่รวบรวมพระราชประวัติราชสกุลมหิดล หลักการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จย่าจนเติบใหญ่เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวอันอบอุ่นของราชสกุลมหิดล เริ่มตั้งแต่สมเด็จย่าทรงเป็น “เด็กหญิงสังวาลย์” ที่ใฝ่ดีและแสวงหาโอกาส จนเป็น “คู่ชีวิตเจ้าฟ้า” ที่ได้ซึบซับพระราชปณิธานอันแรงกล้าในการทรงงานเพื่อแผ่นดินไทยและกลายเป็น “แม่ฟ้าหลวง” ของประชาชนชาวไทย ตลอดจนการสื่อพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ของ “พระมหากษัตริย์ของประชาชน” เพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ทำให้ทุกวันนี้ทั้งคนและผืนป่าของดอยตุง ได้รับการพลิกฟื้นคืนสู่ชีวิตที่พอเพียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เชื่อว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่รวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวดอยตุง จะเข้าใจดอยตุงดินแดนที่มีแต่แรงบันดาลใจให้กับทุกๆคนมากยิ่งขึ้น
จากโครงการพัฒนาดอยตุงเราขับรถขึ้นไปอีกเล็กน้อยเพื่อเดินทางไปชมสวนดอกไม้หลากหลายชนิด สัมผัสอากาศเย็นสบาย รอชมพระอาทิตย์ตกที่ “สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ” ที่ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเทือกเขานางนอน ดอย สูง 1,509 เมตรเหนือกว่าระดับน้ำทะเล บนพื้นที่ 250 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่หลักในการปลูกฝิ่น ก่อนจะถูกฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำดังเดิม แวดล้อมด้วยป่าสน ต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือ ต้นซากุระเมืองไทย ต้นเสี้ยวดอกขาว ดอกกล้วยไม้พื้นเมือง และดอกกุหลาบพันปีหลากหลายสายพันธุ์ บางต้นมีอยู่นับร้อยปี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งชมนกหลากสายพันธุ์ ทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ตั้งอยู่บนเทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ติดกับชายแดนเมียนมา ครอบคลุมพื้นที่ 106,980 ไร่ ประกอบด้วย 6 ชนเผ่าหลัก ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยลัวะ และจีนยูนนาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ www.facebook.com/MaeFahLuangFoundation/และwww.facebook.com/DoiTungClub/