กรุงปักกิ่ง – เจนเนอรัล มอเตอร์ส เผยโฉมยานยนต์ต้นแบบ เชฟโรเลต อีเอ็น วี 2.0 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่งานออโต้ ไชน่า 2012 ถือเป็นการปฎิวัติวงการขับขี่ในโลกแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการสานต่อวิสัยทัศน์จากงานเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ เอ็กซ์โป 2010
“ทีมนักออกแบบและวิศวกรจีเอ็ม ต่างพยายามคิดค้นหาทางเลือกต่างๆ ที่จะพัฒนาอีเอ็น วี ให้เกิดจริง ทั้งนี้ ยานยนต์ต้นแบบ อีเอ็น วี 2.0 จะมีการผสมผสานเทคโนโลยีอันหลากหลาย เช่น อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และระบบการสั่งงานผ่านโครงข่ายการสื่อสารทางไกลผ่านสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า เทเลมาติกส์ (telematics) ที่จะมาพลิกโฉมเทคโนโลยีการใช้รถใช้ถนนและทำให้ และอุตสาหกรรมรถยนต์ของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” มร. เควิน เวลล์ ประธานและกรรมการบริหาร จีเอ็ม ไชน่า กรุ๊ป กล่าว “การออกแบบรถ อีเอ็น วี 2.0 ที่เราแสดงให้เห็นในครั้งนี้ ถือเป็นวิสัยทัศน์ สำหรับการดำเนินงานก้าวต่อไปในอนาคตอย่างไม่หยุดยั้ง”
รถต้นแบบอีเอ็น วี (Electric Networked-Vehicle) รถพลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนสองล้อที่มีการติดตั้งระบบขับขี่แบบอัตโนมัติ ที่ได้จัดแสดงภายในจีเอ็ม เอสเอไอซี พาวิลเลียน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้เข้าเยี่ยมชมงาน เวิลด์ เอ็กซ์โป 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยอีเอ็น วี ถือเป็นหนึ่งในรถยนต์ต้นแบบของจีเอ็มที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมา รถยนต์ไฟฟ้าสองที่นั่งดังกล่าวเป็นผู้บุกเบิกดีเอ็นเอสายพันธุ์ใหม่ของวงการยานยนต์ที่พัฒนาขึ้นจากหลักการผสานอย่างลงตัวระหว่างระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสื่อสารไร้สาย โดยได้รับการพัฒนามาเพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในการขจัดปัญหาการจราจรติดขัด การหาที่จอดรถ คุณภาพอากาศ และความสามารถที่จะเป็นเจ้าของได้ของกลุ่มผู้ขับขี่คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในเมือง
“เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับแนวคิดการพัฒนารถ อีเอ็น วี 2.0 อย่างมาก เนื่องจากเป็นรถที่รวมความเป็นสุดยอดของรถรุ่นก่อนๆ เอาไว้ด้วยกันอย่างครบครัน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับการพัฒนาให้มีดีไซน์ที่สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยในสภาพแวดล้อมการใช้งานจริงมากขึ้น” เวลล์ กล่าวเพิ่มเติม“การผสานรวมกันของเทคโนโลยีการตรวจจับ การสื่อสารไร้สาย และระบบนำทางจีพีเอส ได้สร้างฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ระบบยนตรกรรมที่ล้ำหน้าสำหรับโลกอนาคต”
นอกจากนี้ แนวคิดการพัฒนารถต้นแบบ อีเอ็น วี 2.0 ได้เพิ่มเติมคุณสมบัติหลากหลายเข้าไว้ในหนึ่งเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น ระบบควบคุมสภาพอากาศภายในรถยนต์พื้นที่จัดเก็บสัมภาระส่วนตัว นอกจากนี้ยังสามารถขับขี่ได้ในทุกสภาพอากาศและทุกสภาพถนนในเมือง
“เราออกแบบ อีเอ็น วี 2.0 ให้เป็นรถที่มีสถาปัตยกรรมแบบโมดูลาร์ ด้วยเหตุนี้ ทีมวิศวกรของเราจึงมีความยืดหยุ่นในการสร้างสรรค์ยานยนต์ที่ผู้ขับขี่สามารถควบคุมด้วยตนเอง หรือในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น นั่นคือ มีระบบควบคุมรถแบบอัตโนมัติทั้งหมดและเชื่อมต่อการสื่อสารไร้สายได้ด้วย” มร.เวลล์ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบการสื่อสารไร้สายของรถต้นแบบดังกล่าวจะสามารถรองรับการใช้งาน เครือข่ายสังคมออนไลน์ นั่นหมายความว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถติดตอสื่อสารกับเพื่อนหรือติดต่อธุรกิจขณะอยู่บนรถได้อย่างสะดวก โดยจีเอ็มคาดว่าจะใช้ อีเอ็น วี 2.0 เป็นรถต้นแบบในโครงการศึกษานำร่องทั่วประเทศจีนอีกด้วย