1

เชฟโรเลต ฉลองแปดปีแห่งความสำเร็จ ผ่านวีดีโอไฮไลท์การแข่งขัน WTCC

ซูริค – เชฟโรเลต ฉลองความสำเร็จตลอดแปดฤดูกาลของการแข่งขันรถแข่งทางเรียบเวิลด์ทัวริ่งคาร์แชมเปี้ยนชิพ (WTCC) ผ่านวีดีโอไฮไลท์ที่เปี่ยมด้วยทุกอารมณ์ ทั้งความยินดี ความผิดหวัง คราบน้ำตาและการเฉลิมฉลองแชมป์โลกสามสมัยติดต่อกันอย่างยิ่งใหญ่   

วีดีโอไฮไลท์ชุดนี้ถ่ายทำโดยทีมงานเชฟโรเลต ตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน WTCC ฤดูกาลแรกในปี 2005 โดยเป็นการประเดิมสนามของรถแข่งเชฟโรเลต ลาเซตติไปจนถึงการแข่งขันเรซสุดท้ายในมาเก๊าในเดือนพฤศจิกายน 2555 ด้วยรถแข่งเชฟโรเลต ครูซ ซึ่งสามารถยึดตำแหน่งชนะเลิศทั้งสามอันดับแรกพร้อมกับกวาดชัยชนะรวมทั้งหมด 68 เรซ

 

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเชฟโรเลต และอาร์เอ็มแอล (บริษัทร่วมพัฒนารถแข่งของเชฟโรเลต) ในการก้าวเป็นเบอร์หนึ่งของโลกและเป็นปรัชญาที่สะท้อนสู่รถยนต์ทุกรุ่นที่ออกจำหน่ายของเชฟโรเลต

 

“เมื่อเราเปิดตัวแบรนด์เชฟโรเลต สู่ยุโรปอีกครั้งในปี 2548 เราตัดสินใจเผชิญความท้าทายด้วยการลงแข่งขัน WTCC ซึ่งถือเป็นบททดสอบขนานแท้สำหรับรถของเรา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราสามารถไต่เต้าสู่การเป็นผู้นำของการแข่งขันได้อย่างยอดเยี่ยม” ซูซาน โดเชอร์ตี้ ประธานกรรมการและผู้อำนวยการบริหารของเชฟโรเลต ยุโรปกล่าว

 

เชฟโรเลต ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแข่งขัน WTCC ด้วยการคว้าแชมป์โลกสามสมัยติดต่อกัน ทั้งประเภททีมผู้ผลิตและนักขับ โดยสามารถคว้าชัยชนะได้ถึง 68 เรซ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างสถิติใหม่ด้วยการเก็บคะแนนสะสมปิดท้ายฤดูกาล 2012 ได้มากถึง 1,025 คะแนน ซึ่งไม่เคยมีทีมแข่งรายใดทำได้มาก่อนในการแข่งขัน WTCC

 

ตัวเลขในการแข่งขัน WTCC ของเชฟโรเลต ถือว่าน่าทึ่งในทุกด้าน นักแข่งสามารถคว้าชัยชนะอันดับหนึ่งและสองได้ถึง 23 ครั้งและกวาดทั้งสามอันดับได้ถึง 17 ครั้ง ขึ้นโพเดี้ยมทั้งหมด 184 ครั้ง ทำเวลาต่อรอบได้เร็วที่สุดในรอบคัดเลือกหรือโพลโพซิชั่น 36 ครั้ง ทำความเร็วสูงสุดต่อรอบ 61 ครั้งในการแข่งขัน 178 เรซ รถแข่งเชฟโรเลต เป็นผู้นำในสนามถึง 820 รอบ สามารถเก็บคะแนนสะสมประเภททีมผู้ผลิตรวมทั้งหมด 3,580 คะแนน (คะแนนประเภทนักขับทั้งหมด 4,470 คะแนน) ตลอดการแข่งขัน WTCC แปดฤดูกาล ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้เชฟโรเลต ผงาดเหนือกว่าทีมคู่แข่งทั้งหมด

 

ครูซ กลายเป็นรถที่มียอดขายสูงสุดของเชฟโรเลต โดยนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2552 ครูซสามารถกวาดยอดขายทั่วโลกได้มากกว่า 1.7 ล้านคัน ถือเป็นความสำเร็จที่ได้แรงขับเคลื่อนจากชัยชนะในสนามแข่ง

หลังจากการประเมินแผนยุทธศาสตร์ด้านมอเตอร์สปอร์ตและการตลาด เชฟโรเลต ตัดสินใจยุติการแข่งขัน WTCC เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาล 2012 ที่ผ่านมา

“เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถคว้าแชมป์โลกสามสมัยซ้อนและได้ชัยชนะ 68 เรซ ตลอดการแข่งขันแปดฤดูกาลที่ผ่านมา WTCC ถือเป็นเวทีอันสำคัญยิ่งของแบรนด์เชฟโรเลต และรถครูซ ในยุโรป รวมถึงทุกตลาดทั่วโลก” โดเชอร์ตี้ กล่าว

“นักแข่งเชฟโรเลต WTCC ทั้งร็อบ ฮัฟฟ์ อแลง เมนูและอิวาน มุลเลอร์ สามารถคว้าอันดับหนึ่ง สองและ สามตามลำดับในการแข่งขันฤดูกาล 2012 พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงนักแข่งรถฝีมือเยี่ยมเท่านั้นแต่ยังเป็นแบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ของเชฟโรเลต อีกด้วย สะท้อนถึงจิตวิญญาณของหลุยส์ เชฟโรเลต ที่กระหายชัยชนะและมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในทุกสนามที่ลงแข่งขัน”

มุลเลอร์ คว้าแชมป์โลกประเภทนักขับสองสมัยและคว้าชัยชนะทั้งหมด 20 เรซในสามปีที่ลงแข่ง ขณะที่ฮัฟฟ์ นักแข่งชาวอังกฤษสามารถผ่านธงตราหมากรุกเป็นคนแรกได้ทั้งหมด 23 ครั้งและคว้าแชมป์โลกสมัยที่สาม อีกทั้งยังเป็นนักแข่งคนแรกที่สามารถเก็บคะแนนให้แก่ทีมเชฟโรเลต ในฤดูกาลแข่งขัน 2006

เมนู นักขับชาวสวิสถือเป็นนักแข่งคนแรกและคนสุดท้ายที่คว้าชัยชนะให้ทีมเชฟโรเลต โดยเขาสามารถเก็บชัยชนะได้ทั้งหมด 23 ครั้ง นอกจากนี้ อดีตนักแข่งเชฟโรเลต อย่างนิโกล่า ลารินี่และริคคาร์ด ไรเดลล์ สองนักแข่งรับเชิญก็สามารถเก็บชัยชนะให้ทีมเชฟโรเลต ได้อีกด้วย โดยคนหลังทำได้ในฤดูกาล 2007

สำหรับการพัฒนาเชิงเทคนิคและยกระดับสมรรถนะรถแข่งนั้นเกิดจากความร่วมมือกับอาร์เอ็มแอล บริษัทพัฒนารถแข่งจากอังกฤษซึ่งทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

เรย์ มัลล็อก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาร์เอ็มแอล กล่าวว่า “พนักงานทุกคนที่อาร์เอ็มแอล มีความภาคภูมิใจอย่างมากที่สามารถจับมือกับเชฟโรเลต คว้าแชมป์ WTCC ได้หลายครั้ง ตลอดแปดปีที่ผ่านมานั้นเรามีบทบาทสำคัญในการสร้างและส่งเสริมแบรนด์เชฟโรเลต ทั่วโลก ซึ่งความสำเร็จของโครงการแข่งขันนี้ถือเป็นพื้นฐานที่ดีเยี่ยมในการพัฒนาแบรนด์อาร์เอ็มแอล ในระดับโลกเช่นกัน”

เชฟโรเลต จะเดินหน้าลงชิงชัยในการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรายการอินดี้คาร์ แนสคาร์และการแข่งขันจีที

Video link

 

เส้นทางสู่แชมป์โลก เชฟโรเลต WTCC  

2547 ก่อตั้งทีมแข่งเชฟโรเลต WTCC พร้อมกับการเปิดตัวการแข่งขัน WTCC อย่างเป็นทางการที่โมนาโก

 

2548 – เมื่อวันที่ 8-10 เมษายน รถแข่งเชฟโรเลต ลาเซตติ WTCC ลงแข่งขันครั้งแรกที่สนามมอนซ่า ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นสนามแรกของ WTCC โดยมีอแลง เมนู นิโกล่า ลารินี่และร็อบ ฮัฟฟ์ เป็นสามนักแข่งของเชฟโรเลต ซึ่งในสนามที่ 5 ของฤดูกาล (ในเม็กซิโก) ฮัฟฟ์ (เข้าที่ 6) และลารินี่ (เข้าที่ 7) สามารถเก็บคะแนนแรกให้เชฟโรเลต ได้สำเร็จ

 

2549 – เชฟโรเลต สามารถคว้าชัยชนะครั้งแรกได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม เมื่ออแลง เมนู ควบรถแข่งผ่านธงตราหมากรุกเป็นคนแรกในสนามแบรนด์แฮทช์ ที่ชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนในประเทศอังกฤษ ก่อนที่ร็อบ ฮัฟฟ์จะคว้าชัยชนะครั้งที่สองที่สนามเบอร์โนในสาธารณรัฐเชค

 

2550 – เชฟโรเลต สามารถทำเวลาต่อรอบในรอบคัดเลือกได้เร็วที่สุด (เมนูทำได้ที่สนามซานด์วุท ประเทศเนเธอร์แลนด์) ก่อนที่สองนักแข่งจะสามารถคว้าชัยชนะ (เมนูที่หนึ่งและลารินี่ที่สองที่ซานด์วุท) และสามารถกวาดทุกตำแหน่งบนโพเดี้ยมได้เป็นครั้งแรก (เมนูที่หนึ่ง ฮัฟฟ์ที่สอง และลารินี่ที่สามที่สนามแข่งเมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส) รวมทั้งหมดแล้ว รถแข่งลาเซตติสามารถคว้าชัยชนะได้เจ็ดครั้งและได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งท้องถนน” เนื่องจากเชฟโรเลต สามารถกวาดชัยชนะในสนามในเมืองทั้งสี่ครั้งในการแข่งขัน WTCC ฤดูกาลนี้

 

2551 – เชฟโรเลต ถือเป็นทีมแข่งที่มีความแข็งแกร่งอันดับสามในการแข่งขัน WTCC โดยสามารถคว้าชัยชนะเพิ่มได้อีกห้าเรซ

 

2552 – รถแข่งเชฟโรเลต ครูซ WTCC รุ่นใหม่ประเดิมการแข่งขันและสามารถสร้างความตื่นตะลึงให้แฟนทั่วโลกด้วยชัยชนะสองครั้ง (ฮัฟฟ์และลารินี่) ที่สนามมาร์ราเคชในประเทศโมร็อกโก ก่อนที่จะเก็บชัยได้อีกสี่ครั้งในฤดูกาลนี้

2553– นักแข่งชื่อดังชาวฝรั่งเศสและอดีตแชมป์ WTCC อย่างอิวาน มุลเลอร์ เข้าร่วมทีมแข่งเชฟโรเลต แทนที่นิโกล่า ลารินี่ ซึ่งตัดสินใจแขวนพวงมาลัย โดยรถแข่งครูซซึ่งผ่านการพัฒนาเพิ่มเติมนั้นพิสูจน์ความยอดเยี่ยมด้วยการเก็บชัยชนะเจ็ดเรซ ก่อนคว้าแชมป์โลกทั้งประเภททีมผู้ผลิตและนักขับ (อิวาน มุลเลอร์) พร้อมกับสร้างสถิติขึ้นโพเดี้ยมได้ถึง 21 ครั้งจากการแข่งขัน 22 เรซ

 

2554 – เชฟโรเลต ครูซ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยขุมพลังเบนซินเทอร์โบ 1.6 ลิตรรุ่นใหม่พัฒนาโดยบริษัทอาร์เอ็มแอล ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถคว้าชัยชนะได้ถึง 21 ครั้งจากการแข่งขัน 24 เรซ (กวาดทุกตำแหน่งบนโพเดี้ยมถึงหกครั้งและจบการแข่งขันที่หนึ่งและสองอีกเก้าครั้ง) สามารถเป็นผู้นำในสนามแข่งขันถึง 256 รอบและจบบนโพเดี้ยมถึง 51 ครั้งจากทั้งหมด 72 ครั้ง นักแข่งของเชฟโรเลต ยังสามารถทำเวลาต่อรอบในรอบคัดเลือกได้เร็วที่สุดทั้งฤดูกาล และทำความเร็วต่อรอบที่เร็วที่สุดในการแข่งขันได้ 23 ครั้ง

 

2555 – เชฟโรเลต สามารถเก็บชัยชนะได้ 20 ครั้งจากทั้งหมด 24 เรซ โดยร็อบ ฮัฟฟ์ สามารถคว้าแชมป์โลกประเภทนักขับเมื่อทำคะแนนสะสมได้ที่ 413 คะแนน ตามมาด้วยอแลง เมนู 401 คะแนนและอิวาน มุลเลอร์ 393 คะแนน เชฟโรเลต สามารถทุบสถิติคะแนนสะสมประเภททีมผู้ผลิตได้เกิน 1,000 คะแนนได้เป็นครั้งแรกในการแข่งขัน WTCC โดยปิดฤดูกาลที่ 1,025 คะแนน เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง BMW ซึ่งทำได้ที่ 650 คะแนนและเซียทที่ตามมาในอันดับสาม 617 คะแนน