เจแปนฟาวน์เดชั่น จับมือ TCDC และ Plus Arts ถอดประสบการณ์วิกฤติน้ำท่วมในไทยและแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ชวนคนไทยเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ในนิทรรศการ “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชืวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง”

0
251
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ — เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) และPlus Arts องค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศญี่ปุ่น นำเสนอการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบรอบด้าน ตั้งแต่ระดับเมือง ชุมชน และระดับคน ด้วยบทเรียนความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น มาเป็นปัจจัยสำหรับ ‘การออกแบบ’ เพื่อเตรียมตัวเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ในนิทรรศการ “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง” ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2555 – 6 มกราคม 2556 ณ ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC)

 

นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ในฐานะองค์กรที่มุ่งส่งเสริมการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของความเปลี่ยนแปลง วิกฤตการณ์ของโลก รวมถึงปัญหาจากภัยธรรมชาติ  จึงร่วมมือกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ Plus Arts องค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำโดยนายฮิโรคาซึ นางาตะ ประธานของ Plus Arts จัดนิทรรศการ “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเตรียมความพร้อมและรับมือภัยธรรมชาติอย่างถูกต้อง เพื่อได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

 

แนวความคิดในการออกแบบนิทรรศการนี้มาจาก นายมาซาชิ โซกาเบะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ถ่ายทอดเรื่องราวของนิทรรศการผ่านแนวคิดหลัก คือ การนำเสนอการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติใน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับเมือง ระดับชุมชน และระดับบุคคล นำเสนอเรื่องราวในแบบสร้างสรรค์  โดยนำบทเรียนความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยและเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น มาเป็นบทเรียนสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยการเตรียมความพร้อมเป็นไปแบบมีความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและพื้นหลังของแต่ละพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสม

 

นิทรรศการ “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง” นี้  แบ่งการนำเสนอเป็น 3 ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย นิทรรศการส่วนแรก “เมืองและลุ่มน้ำ” แสดงถึงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตั้งราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พร้อมทั้งนำเสนอวิสัยทัศน์ในการผสมผสานบทเรียนจากน้ำท่วมในอดีตเข้ากับเทคโนโลยี โดยอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่นที่สามารถทำให้ผู้คนในหลายพื้นที่สามารถดำเนินชีวิตได้ โดยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำท่วมให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนั้นยังนำเสนอถึงสิ่งที่ควรเป็นปัจจัยหรือแนวคิดในการปรับวิถีและเปลี่ยนชีวิตให้ยืดหยุ่นเมื่อเกิดอุทกภัย

 

นิทรรศการส่วนที่สอง “ชุมชนและวิถีชีวิต” ที่นำความโกลาหลของเหตุการณ์ อุทกภัยของประเทศไทยในปี 2554  มาเป็นบทเรียน เพื่อชวนให้คิดใหม่ว่าการเตรียมความพร้อมจะช่วยให้ชุมชนและคนสามารถอยู่กับน้ำได้อย่างกลมกลืน พร้อมนำเสนอเรื่องความเตรียมความพร้อมในระดับชุมชนโดยยกตัวอย่างชุมชนที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวใจกัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและลดผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ และนำเสนอการเตรียมความพร้อมในระดับบุคคล โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือ “บ้านและความเป็นอยู่ในบ้าน” หยิบยกการเตรียมความพร้อมและเทคนิค รวมทั้งสินค้าอันหลากหลายที่จะเป็นตัวช่วยให้สามารถอยู่ในบ้านได้เมื่อเกิดน้ำท่วม

 

ปิดท้ายด้วยนิทรรศการในส่วนที่สาม “คนและการเรียนรู้” โดยนิทรรศการส่วนนี้เป็นความร่วมมือกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ในการนำโครงการของ Plus Arts องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากญี่ปุ่นมาแสดง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การรวบรวมและนำบทเรียนจากภัยพิบัติกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน อาวาจิ  เมืองโกเบในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2538 มานำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยทั้งหมดเป็นผลงานของ Plus Arts ร่วมกับนักออกแบบ สถาปนิก และกลุ่มคนสร้างสรรค์ต่างๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในยามฉุกเฉิน และปิดท้ายด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาคเอกชนและองกรณ์ต่างๆ ที่สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งต่อหรือให้ความรู้เรื่องการรับมือในสภาวะฉุกเฉินได้อย่างไรด้วย

 

ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง” สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2555 ถึง 6 มกราคม 2556 เวลา 10.30-21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์)  ณ ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ 02- 664- 8448 ต่อ 213, 214 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdc.or.th