เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา รณรงค์ประกาศเจตนารมณ์ ประกาศเจตนารมณ์ ยุติความรุนแรงต่อสตรี
เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา ประกาศเจตนารมณ์ 1 ส.ค. วันสตรีไทย ต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อสตรี
ที่เทศบาลตำบลท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ นายศิริพัฒน์ กาวิละ นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา เป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีเครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา 12 จังหวัดภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เนื่องในวันสตรีไทย ซึ่งจัดกิจกรรมโดย เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา เทศบาลตำบลท่าศาลา เครือข่ายสหวิชาชีพฯ และมูลนิธิเพื่อนหญิง
นางพรรณี พรหมวิชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนาเทศบาลตำบลท่าศาลา กล่าวว่า วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีไทย ในปีนี้เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนาเทศบาลตำบลท่าศาลาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี และสหภาพยุโรป(EU) ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันสตรีไทยขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจะรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งปีนี้จัดภายใต้ธีมที่ชื่อ “ผู้หญิงมั่นคง ประเทศชาติมั่งคั่ง ผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรงต่อ เด็ก ผู้หญิง และครอบครัว” ซึ่งได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดียิ่งจาก กลุ่มพัฒนาสตรีทั้ง 9 ตำบลของอำเภอเมืองเชียงใหม่ กลุ่มสตรีทั้ง 5 หมู่บ้านของตำบลท่าศาลา สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ คณะครู-นักเรียน และเทศบาลตำบลท่าศาลา
ทั้งนี้ในพิธีได้มีขบวนพาเหรดรณรงค์การไม่ใช้ความรุนแรงต่อสตรีไปตามถนนในพื้นที่ ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยป้ายประชาสัมพันธ์การงดใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ โดยมีไฮไลท์คือ การแสดงเลียนแบบละครดัง “กลิ่นกาสะลอง” ที่มีเนื้อเรื่องในการที่ลูกกระทำความรุนแรงกับผู้เป็นแม่ หลังจากพิธีเปิดเป็นการสานเสวนาในประเด็น “บทบาทเครือข่ายสหวิชาชีพ กับการเข้าถึงประชาชน โดยยก กรณีศึกษาแม่หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว และป้อชายต้นแบบไม่ทำร้ายผู้หญิง ครอบครัวอบอุ่น” โดยมีกิจกรรมส่งท้ายเป็นการประกาศเจตนารมณ์ “แม่หญิงมั่นคง ประเทศมั่งคั่ง ผู้ชายไม่ใช้ความรุนแรง”และปิดกิจกรรมรณรงค์โดย นางพรรณี พรหมวิชัย ประธานเครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนาจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ในการประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายเพื่อนหญิงภาคเหนือ ท่าศาลา จ.เชียงใหม่ มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง และสหภาพยุโรป (EU) ได้มีข้อเสนอเชิงพื้นที่ 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ขอให้นายกเทศบาลตำบลทำศาลา คณะผู้บริหาร และองค์กรปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายสหวิชาชีพด้านการคุ้มครองเด็ก สตรี และครอบครัวระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการทำงานในการให้ความช่วยเหลือกรณีผู้หญิง เด็ก และครอบครัว ที่ถูกกระทำความรุนแรงในมิติต่างๆ
2. ขอให้เทศบาลได้จัดสรรงบประมาณ สนับสนุน ส่งเสริมโครงการด้านสุขภาวะทางเพศของผู้หญิง การบริโภคที่ปลอดภัย การเข้าถึงสิทธิด้านการคุ้มครองทางกฎหมาย อาทิ การฝึกการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ อาหารปลอดภัย ให้สตรี และชุมชน ที่ผู้หญิงได้ร่วมกันเขียนพัฒนา เข้าไปในข้อบัญญัติของเทศบาล หรือตำบล อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
3. ขอให้เทศบาลได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการควบคุมอบายมุข ใกล้ชุมชน สถานศึกษา และบริเวณวัด เพื่อป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ และให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชนปลอดภัยไม่มีความรุนแรง ทุกรูปแบบ