เครือข่ายครูมหัศจรรย์จ.เพชรบุรี ร่วมสร้างสุขภาวะดีในเด็กปฐมวัย

0
990
image_pdfimage_printPrint

“เด็กมีปัญหาไม่พูด แกชอบเล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะเวลาเล่น ก็จะไม่สื่อสารกับใครจ้องแต่หน้าจอ” เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองของเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ที่กล่าวถึงปัญหาพฤติกรรมของหลาน ในฐานะของย่าย่อมกังวลใจ ถึงปัญหาพฤติกรรม หมอสัณนิฐานว่าหลานน่าจะหูหนวก แต่ย่าเองไม่เชื่อ เพราะเด็กมีปฏิกริยากับเสียงเรียก เพียงแต่ขาดการสื่อสารเท่านั้น เมื่อมาสังเกตุพฤติกรรมก็ พบว่า เด็กชอบใช้ภาษากายในการสื่อสาร แทนภาษาพูด เกิดจากการดูสื่อหน้าจอมากเกินไป ไม่ได้พูดจาสื่อสารกับใคร
เครือข่ายครูมหัศจรรย์ ปี 5(2562) ใน จ.เพชรบุรีมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 8 โครงการ ดำเนินกิจกรรมมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) ภายใต้ แนวคิด 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอ.ท่ายาง และอ.แก่งกระจาน จับมือนำผลงานสื่อสร้างสรรค์มาจัดแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด ผลลัพธ์การทำงานร่วมกัน หลังจากที่ได้ดำเนินกิจกรรมมาระยะหนึ่ง จึงได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงเรื่องการใช้กระบวนการสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ซึ่ง ประกอบด้วย การผลิตสื่อสร้างสรรค์ การประยุกต์ใช้สิ่งที่มีในชุมชน เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือศิลปวัฒนธรรมของชุมชนมา สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมความฉลาดรู้ทางอาหาร กิจกรรมทางกาย (กิจกรรมเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ การเล่น ) สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการสำคัญที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้มีพัฒนาการครบทั้ง ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และการได้มาแลกเปลี่ยนกันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกด้วย
นางสุนันท์ พวงมณี ผู้ปกครองเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเขาลูกช้าง อ.ท่ายาง กล่าวอย่างดีใจว่า “เห็นผลจากการที่เด็กได้ใช้สื่อที่ครูทำขึ้น ย่าเห็นเลยว่า พอหลานมาเล่นสื่อก็ทำให้หยุดเล่นโทรศัพท์ลงไป แกมีการโต้ตอบดีขึ้น สื่อสารได้ เช่น ชอบเล่น บทบาทสมมุติ เล่นขายของ ครูทำชุดครัว ที่ทำจากลังกระดาษ เด็กก็จะชอบเข้าไปเล่น พูดคุยกับเพื่อนๆ หรือพูดกับตัวเอง ตามจินตนาการ เล่าว่ากำลังทำอะไร เกิดการโต้ตอบกับคนอื่นๆ ตอนนี้ แกพัฒนาการดีขึ้นมากและกำลังจะไปเข้าป.1 ที่โรงเรียนอื่นแล้ว ซึ่ง ย่าก็ดีใจ เพราะไม่คิดว่าหลานจะเข้าต่อป.1ได้ เพราะแกสื่อสารไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าสื่อสร้างสรรค์เหล่านี้ ทำให้แกสนใจ มีพัฒนาการทางอารมณ์ สังคมดีขึ้นมาก ” และยังบอกอีกว่า “โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง หันมารู้เรื่องพัฒนาการเด็ก และสนใจกับสิ่งรอบตัวที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ได้”
นางนภัสรพี ดิส ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองหงส์ อ.แก่งกระจาน ดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ปี 3 (2560) และยังได้เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือแนะนำให้กับเพื่อนๆครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า “การได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความสำคัญมาก เพราะได้หยิบ จับ สื่อของจริงที่เพื่อนๆทำมา ไม่ว่าจะพลิก จะแงะ จะแกะ ดู ทำให้ได้เรียนรู้ และนำกลับไปผลิตสื่อการเรียนรู้ของตัวเองได้ อีกทั้งแนวคิดเรื่องของการจัดพื้นที่เรียนรู้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ดีของเด็กๆ ในศูนย์ ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางกายของเด็กให้เจริญเติบโต ควบคู่ไปกับการพัฒนาการทางสมอง แต่เดิมก่อนเข้าโครงการที่ศูนย์ของตัวเองนั้น พื้นที่ด้านนอกห้องเรียนไม่ได้ถูกจัดกระทำให้เด็กๆได้มีมุมเรียนรู้ใดๆเลย เมื่อเด็กๆ มาถึงก็อยู่แต่ในห้องเรียน อีกทั้งในห้องก็จัดแบบเอามุมทุกอย่างติดไว้กับผนังปล่อยห้องไว้โล่งๆตรงกลางให้เด็กมาวิ่งเล่น ก็เกิดปัญหาว่า บางทีเด็กไม่ได้ใช้สื่อหรือหยิบสื่อมาก็เก็บไม่ถูก หลังจากเราได้แรงบันดาลใจก็มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ให้เป็นโซนการเล่น ทำเป็นช่อง เป็นมุม เด็กเห็นแต่ละมุมเป็นอย่างไร มีมิติมากขึ้น เด็กเข้าไปเลือกเล่นได้เองและเก็บของเข้าที่ได้ นอกจากนี้ยังปรับพื้นที่นอกห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และให้มีกิจรรมทางกายเพิ่มเติมขึ้น ด้วยการทำพื้นที่ให้เด็กปีนป่าย มีมุมทราย ให้เด็กได้เล่น แขวนล้อยางไว้กับต้นไม้ให้เด็กโหนตัว ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เมื่อมารับเด็กกลับบ้าน ระหว่างรอเด็กเล่น ทำให้ได้พูดคุยกันเพิ่มขึ้น จากเดิมมาถึงรับ กลับ เลยไม่เคยได้คุยกัน ตอนนี้ทำกิจกรรมต่อเนื่องเข้าปีที่ 3 แล้ว พื้นที่สนามของศูนย์กลายเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ที่เคยเรียนจบไปแล้ว กลับมาเล่นและใช้พื้นที่ทำกิจกรรมเพราะศูนย์ของเราไม่มีปิดเทอมเหมือนโรงเรียนประถม”
นางจิดาภา นวมนิ่ม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งสลอด อ.บ้านลาด รุ่นพี่ผู้ดำเนินการโครงการปี1(2557) ปัจจุบันก็ยังคงพัฒนาเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดี ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “เมื่อก่อนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เคยมีคนมานิเทศงาน ไม่มีเครือข่ายความรู้ให้แลกเปลี่ยนกัน ขาดเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก เมื่อเราได้มาจับมือกันทำงานโครงการมหัศจรรย์ เกิดเป็นความรู้ในการทำงาน เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดเป็นเครือข่ายครูมหัศจรรย์ร่วมกันกับเพื่อนๆ ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เพชรบุรี ทำให้เราได้มีโอกาสในการทำงาน โอกาสในการพัฒนาเด็ก เกิดผลงาน เพราะรู้จักดัดแปลงสางของต่างๆมาเป็นสื่อส่งเสริมพัมนาการเด็ก การได้ประเมินพัฒนาการเด็กทำให้ครูได้ต่อยอดผลการงานการเขียนเอกสาร เกิดเป็น Best practice ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เดิมเราทำงานขาดการเรียบเรียง การจัดกลุ่ม การคิดวิเคราะห์ แต่เมื่อได้มาทำโครงการร่วมกัน การได้พูดคุยนำเสนองาน เล่างานให้คนอื่นฟัง ทำให้จำเป็นต้องเรียบเรียงเรื่องราวในการนำเสนอ เป็นการฝึกการทำงานของครูจากการทำโครงการร่วมกับสสส. ไม่ใช่แค่เพียงเด็กๆได้รับการพัฒนา ครูเองก็ได้รับการพัฒนาเช่นกัน”
ขณะนี้ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 19 แห่ง ใน จ.เพชรบุรี ที่ขยายความคิดเรื่องการสร้างพื้นที่ 3 ดี วิถีสุข จับมือและเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และส่งผลต่อเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยพบว่า เด็กๆมีอารมณ์ดีรู้จักการอยู่ในสังคม ได้มีการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย มีกิจกรรมให้เด็กๆได้ลงมือทำ โดยครูเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมอย่างหลาย บูรณาการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและกำลังขยายสู่งการเป็นชุมชน สามดี และสร้างพลเมืองเด็กที่มีทักษะชีวิต ทำให้พวกเขาสามารถเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้าน

โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่ม wearehappy. องค์กรสาธารณประโยชน์