อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือโชว์ศักยภาพศูนย์บริการนวัตกรรมครบวงจร สนับสนุนนักธุรกิจและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในยุค 4.0

0
543
image_pdfimage_printPrint

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ : Northern Science Park โชว์ศักยภาพศูนย์ให้บริการนวัตกรรมครบวงจรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม พร้อมให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่ครบครันแห่งแรกของประเทศ หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักและการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) มุ่งเป็นเสาหลักสำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่ต้องการพัฒนาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมเดินหน้าเต็มกำลังปั้นสตาร์ทอัพหนุนประเทศไทยขึ้นชื่อ “ประเทศนวัตกรรม” ในยุค 4.0
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (NSP) แจงความพร้อมการให้บริการของอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ด้วยพื้นที่ใช้สอยรวม 20,750 ตารางเมตร ในพื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ โดยให้บริการ 6 รูปแบบหลัก ได้แก่ การให้บริการด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, การให้บริการด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี, การให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม, การจับคู่ทางธุรกิจและแนะนำแหล่งทุนที่เหมาะสม, การให้บริการพื้นที่สำนักงานที่เหมาะกับทุกธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพเทคโนโลยี, การให้บริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2561 อุทยานฯ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ในการเข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาดูงานในฐานะองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนานวัตกรรม จำนวนกว่า 1,293 คน (จาก 42 กลุ่ม)
อาคารอำนวยการอุทยานฯ ได้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า นักธุรกิจ (SMLEs) Startup อาทิ บริษัท ไซแนปส์ จำกัด (ประเทศไทย) ให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ด้าน Cognitive ชื่อว่า “SOMSRi” (สมศรี) ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ข้อมูล เข้าใจภาษาธรรมชาติ (ไทยและอังกฤษ) สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้เสมือนเป็นผู้ช่วยดิจิตอล โดยสามารถใช้งานผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) สามารถเชื่อมต่อกับ social message, web application หรือ mobile application โดยสามารถพัฒนา software สู่การเชื่อมต่อสำหรับทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อลดการทำงานของมนุษย์, บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด แพลตฟอร์มในการบริหารจัดการห้องเช่าสำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ และผู้เช่าในรูปแบบออนไลน์, บริษัท ปรินท์ เอ็กซ์เพรส ไทย จำกัด, บริษัท สยามโนวาส จำกัด, บริษัท นาวิสพลัส จำกัด, บริษัท บัดดี้โก จำกัด, หจก.ไทยดาต้าอนาไลซิส และหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือวัดในแถบแอนตาร์กติกา ฯลฯ ได้เข้าใช้บริการภายในพื้นที่อุทยานฯ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2561) รวม 32 ยูนิต ซึ่งคิดเป็น 73% ของพื้นที่การให้บริการทั้งหมด โดยในส่วนของภาคเอกชนแบ่งเป็นธุรกิจประเภท Medical and Bio-technology 2.9% Energy technology and material 9.6% Agriculture and Food 21.5% IT Software and Digital Content 66% และตั้งเป้าว่าภายในเดือนมีนาคม 2562 จะมีการใช้บริการเต็มครบพื้นที่ให้บริการทั้งอาคาร

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการนักธุรกิจในภาคเอกชน อาจารย์นักวิจัยในภาคการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ภายใต้แนวคิด “Total Innovation Solutions” โดยมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการแก่ภาคเอกชนด้วยการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 7 แห่ง โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นแม่ข่ายบริหารจัดการดำเนินงานโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในเขตภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนและผลักดันประเทศไปสู่การพัฒนาให้เกิดเป็นประเทศนวัตกรรม ผ่านการให้คำแนะนำปรึกษาด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากทรัพยากรที่อยู่ในสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย นักวิจัย ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือต่างๆ โดยเป็นตัวกลางเชื่อมประสานองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยผลักดันสู่การพัฒนาในภาคเอกชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมุ่งมั่นให้บริการในรูปแบบ Smart Launchpad แก่สตาร์ทอัพและการบ่มเพาะธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของประเทศ ซึ่งนับเป็นการติดอาวุธให้พร้อมสู่การลงสนามธุรกิจในยุคปัจจุบัน