อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคร่วมเคลื่อนไหวเพื่อลดขยะพลาสติก

0
589
image_pdfimage_printPrint

คณะกรรมการบริหารของ The Consumer Goods Forum ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคช่วยกันลดขยะพลาสติก พร้อมให้การรับรองวิสัยทัศน์ของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ว่าด้วยความมุ่งมั่นระดับโลกต่อเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ปราศจากขยะพลาสติกในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

(โลโก้: http://mma.prnewswire.com/media/556222/The_Consumer_Goods_Forum_Logo.jpg )

คณะกรรมการบริหารของ The Consumer Goods Forum (CGF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภครับบทผู้นำในการลดปริมาณขยะพลาสติกทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมให้การรับรองวิสัยทัศน์เศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation โดยได้ออกแถลงการณ์ดังกล่าวก่อนที่การประชุม Our Ocean Conference จะจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียในสัปดาห์นี้ โดยในงานนี้ คุณเอ็มมานูเอล เฟเบอร์ ประธานและซีอีโอบริษัทดานอน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ CGF จะเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคควรทำเพื่อรับมือกับปัญหาขยะพลาสติก ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉบับเต็มมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“ในฐานะคณะกรรมการบริหาร The Consumer Goods Forum (CGF) เราตระหนักถึงความจำเป็นยิ่งที่อุตสาหกรรมของเราต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และเราจะร่วมมือกันเพื่อขจัดขยะพลาสติกทั้งทางบกและทางทะเล

เราตระหนักดีว่าจะรับมือกับความท้าทายจากขยะพลาสติกได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทั่วโลก ทั้งจากภาคเอกชน รัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ องค์กรข้ามชาติ อุตสาหกรรมรีไซเคิล ไปจนถึงผู้บริโภค ดังนั้น คณะกรรมการบริหาร The Consumer Goods Forum จึงขอรับรองวิสัยทัศน์ของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ว่าด้วยความมุ่งมั่นระดับโลกต่อเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ปราศจากขยะพลาสติกในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สมาชิก CGF หลายรายได้ยกระดับความพยายามตามเป้าหมายและจุดประสงค์ของเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการลดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและอาจก่อให้เกิดปัญหา รวมถึงเพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลหรือรียูสได้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนความพยายามของบริษัทสมาชิก ทาง CGF จะช่วยระบุสิ่งที่เราสามารถทำร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆเพื่อสร้างระบบรีไซเคิลและรียูส และการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม”

คุณสตีฟ โรว์ ประธานบริหารบริษัทมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ และคณะกรรมการผู้ร่วมสนับสนุนกลุ่มเพื่อความยั่งยืนของ CGF เปิดเผยว่า “ภาคธุรกิจจะต้องหาวิธีการใหม่ในการจัดการพลาสติก และอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคใช้พลาสติกน้อยลงและหันมารีไซเคิลมากขึ้น CGF มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเราได้ลดปริมาณการใช้พลาสติกลง ใช้วัสดุที่เรียบง่ายกว่าเดิม เพิ่มอัตราการรีไซเคิล รวมถึงเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์”

คุณเอียน คุก ประธานและซีอีโอบริษัทคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ และประธานร่วมของคณะกรรมการบริหาร CGF เปิดเผยว่า “ขยะพลาสติกเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นจริงและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ บริษัทที่เป็นสมาชิกของ CGF ต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ตลอดจนร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรเอ็นจีโอ และอุตสาหกรรมรีไซเคิล เราจะทำหน้าที่ในส่วนของเราเพื่อสร้างความมั่นใจว่า พลาสติกที่เราใช้จะถูกนำไปรียูส รีไซเคิล หรือย่อยสลายอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า”

คุณเอ็มมานูเอล เฟเบอร์ ประธานและซีอีโอบริษัทดานอน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ CGF กล่าวว่า “การสนับสนุนของ CGF แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคกำลังยกระดับความพยายามในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำจัดขยะและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก ผมหวังว่าสมาชิกของ CGF จะมาร่วมลงนามรับรองความมุ่งมั่นระดับโลกต่อเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ และทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบต่อไป”

คุณมาร์ก ชไนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเนสท์เล่ และสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ CGF กล่าวว่า “ผมรู้สึกภูมิใจที่เนสท์เล่เป็นหนึ่งในผู้ลงนามรับรองความมุ่งมั่นระดับโลกต่อเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานอันทรงพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ โดยทุกความพยายามต่างมีความสำคัญยิ่ง”

คุณปีเตอร์ ฟรีดแมน กรรมการผู้จัดการ The Consumer Goods Forum กล่าวว่า “เราต่างทราบดีว่า ปัญหาขยะพลาสติกสามารถแก้ไขได้หากเราทุกคนร่วมมือกัน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ สังคม ตลอดจนผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่ง CGF ก็เกิดขึ้นเพื่อผลักดันความร่วมมือดังกล่าวในวงกว้าง โดยสมาชิกของเราพร้อมร่วมมือกันในสามส่วนที่เราคิดว่าสามารถทำประโยชน์ได้ ได้แก่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม และการพัฒนาระบบรีไซเคิล ขณะเดียวกัน เราพร้อมร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญในสามส่วนนี้ รวมถึงผู้ที่มีเป้าหมายระยะยาวร่วมกันในการกำจัดขยะพลาสติกทั้งทางบกและทางน้ำ”

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.theconsumergoodsforum.com

วันที่ 28 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการบริหารของ The Consumer Goods Forum ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคช่วยกันลดขยะพลาสติก พร้อมให้การรับรองวิสัยทัศน์ของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ว่าด้วยความมุ่งมั่นระดับโลกต่อเศรษฐกิจพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ปราศจากขยะพลาสติกในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ที่มา: The Consumer Goods Forum