เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของ GIZ จัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง “การขนส่งสินค้าสีเขียว:การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของ สปป.ลาว” ที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
การสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) อย่างเป็นทางการระหว่างกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาวและ GIZ รวมถึงมีการนำเสนอความเป็นมาของโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจการขนส่งสินค้า โดยนายบุญตา อ่อนนาวง อธิบดีกรมการขนส่งกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาว และ Mr. Koen Everaert ผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำสปป.ลาว ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี
Mr. Koen Everaert ผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำสปป.ลาว กล่าวว่า “อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในภาคที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก การคมนาคมเป็นรากฐานที่สำคัญของกระบวนการบูรณาการในยุโรปและเป็นจุดเชื่อมโยงให้เกิดการสร้างตลาดที่สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในสปป.ลาว อายุเฉลี่ยของรถบรรทุกอยู่ที่ประมาณ 15 ปี ส่งผลให้เกิดค่าบำรุงรักษาที่สูงและประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำ นอกจากนี้ การฝึกอบรมสำหรับผู้ขับขี่ยังไม่แพร่หลายประกอบกับสภาพถนนที่ไม่ดี จึงส่งผลให้การขับขี่โดยทั่วไปไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการคำนึงถึงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าอันตรายจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศต่างๆ จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของ GIZ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) จะเข้ามาช่วยสนับสนุนรัฐบาลสปป.ลาวในการปรับปรุงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ การฝึกอบรมเรื่องการขับขี่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประเทศไทย จะถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความรู้สามารถของผู้ฝึกสอนในสปป.ลาว และจะถูกนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการขับขี่ของสปป.ลาวด้วย ในระหว่างการสัมมนา นายนนท์ ภูปรัสสานนท์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาและการฝึกอบรม บริษัท เอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประเทศไทย ได้กล่าวถึงการอบรมว่า “ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการขนส่ง เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับหลายประเทศในอาเซียน การขนส่งสินค้าในอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้เชื้อเพลิง โรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ในเครือบริษัท เอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้พัฒนาหลักสูตร “การขับขี่ปลอดภัย” แก่ผู้ขับขี่ ประการแรกเราฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการการขนส่ง โดยใช้พาหนะที่มีอัตราการบริโภคน้ำมันน้อย เช่น รถไฟหรือเรือ และให้รถบรรทุกขนสินค้าทั้งขาไปและขากลับ เพื่อให้การขนส่งสินค้ามีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด ประการที่สองเราเน้นลดการเดินทางแบบตีเปล่า โดยมุ่งเน้นไปที่การให้รถบรรทุกสินค้าทั้งขาไปและขากลับ ประการที่สามเราใช้ระบบการบริหารการจัดส่งสินค้าหลายรายการในการเดินทางครั้งเดียว โดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้า แล้วใช้รถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง และประการสุดท้าย เรามีการบริหารจัดการให้รถบรรทุกที่เข้าไปรับสินค้าในโรงงาน ติดเครื่องน้อยที่สุดระหว่างรอรับสินค้า โดยใช้เครื่องมือ GPS ช่วยในการติดตามและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการส่งสินค้าจะถึงปลายทางได้ทันเวลา”
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้เกี่ยวกับทางเลือกในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ อันนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าในประเทศ
ภายหลังการสัมมนา ยังมีการอภิปรายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงานที่จะดำเนินงานร่วมกัน นายบุญตา อ่อนนาวง อธิบดีกรมการขนส่งกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาว กล่าวว่า “ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นสิ่งที่เราตระหนักอย่างยิ่ง ขณะนี้เรากำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัย เราจะร่วมมือกับ GIZ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ขับขี่ในเวียงจันทน์ ด้วยการปรับปรุงการจัดการความปลอดภัยทางถนน การลงทะเบียนยานพาหนะ การออกกฎระเบียบด้านยานพาหนะอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการสนับสนุนการฝึกอบรม เวียงจันทน์เพิ่งเติบโตมาได้ไม่นานจึงไม่ยากต่อการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และปรับกฏหมายให้มีความเข้มงวดขึ้น จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ขับขี่เช่นกัน การลดการใช้เชื้อเพลิงและความปลอดภัยทางถนนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะต้องถูกตรวจสอบโดยโครงการ อาจเรียกได้ว่านี่เป็นแนวคิดใหม่ แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย มีระบบการขนส่งที่ดีขึ้นและลดต้นทุนได้จริง คนที่นี่ก็จะมีความสุข”