กรุงเทพฯ / 24 มิถุนายน 2562 – ตัวแทนจาก10 ประเทศอาเซียน เข้าร่วมการประชุมเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะทำงานตัวแทนภาคเอกชนและอุตสาหกรรมในการปรับปรุงคุณภาพ ภาพลักษณ์และผลลัพธ์ของการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (TVET) ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมจะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแผนแม่บทการศึกษา 5 ปีของสำนักเลขาธิการอาเซียน
การฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (TVET) เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาบุคลากรและแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของเทคโนโลยี กระบวนการผลิตและการบริการแบบใหม่ในอนาคต และเป็นเครื่องการันตีว่านักเรียน นักศึกษาที่จบด้านอาชีวศึกษาจะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถมีอาชีพการงานที่ดีและเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ดร. อาลาดิน รีโล รองเลขาธิการด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน เน้นย้ำในการประชุมเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 ถึงความสำคัญที่จะผลักดันนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ให้สามารถสนองต่อความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ดร. อาลาดิน รีโล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคีความร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วนและทุกประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ จากภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันอาชีวศึกษาร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืน
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนพ.ศ. 2561 คณะทำงานภูมิภาคด้านความร่วมมือของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากภาครัฐ ภาคเอกชน สภาหอการค้าจาก 10 ประเทศอาเซียน และตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้ร่วมหารือและระบุข้อเสนอแนะให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ประกอบการที่สนใจในการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต
ข้อเสนอแนะดังกล่าว ถูกนำมาสรุปในรูปแบบของรายงานหัวข้อ “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” โดยมีทั้งหมด 45 ข้อ และถูกแบ่งเป็น 9 หัวข้อใหญ่ โดยมุ่งเน้นในหลากหลายประเด็น เช่น การส่งเสริมคุณภาพและความสอดคล้องของกฎระเบียบและนโยบายระบบอาชีวศึกษาและฝึกอบรม การเสริมสร้างความเป็นผู้นำของภาคธุรกิจในระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษากับภาคเอกชน
นอกจากนี้ บางหัวข้อยังถูกจัดให้อยู่ในหมวดประเด็นเร่งด่วน เช่น การจัดตั้งสภาความร่วมมือด้านการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชนให้สามารถขับเคลื่อนวาระด้านการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของประเทศ การพัฒนาระบบข้อมูลเรื่องทักษะแรงงานออนไลน์ และการจัดสรรงบประมาณประจำปีสำหรับการอาชีวศึกษา
คณะทำงานภูมิภาคด้านความร่วมมือภาคเอกชนและอุตสาหกรรมเรียกร้องให้ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกอาเซียนริเริ่มการทำรายงาน “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” ให้เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ริเริ่มหรือต่อยอดการปรับโครงสร้างระหว่างตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนให้สามารถหารือและหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อลำดับความสำคัญหัวข้อในระบบอาชีวศึกษาของประเทศตนให้สอดคล้องกับรายงาน “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน”
การอ้างอิงถึงข้อปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียนและการวิจัยในปัจจุบัน ส่งผลให้การประชุมหารือเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีหารือและทบทวนเกี่ยวกับข้อเสนอแนะ พร้อมระบุแนวทางและพันธมิตรที่มีแนวโน้มจะทำให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เกิดขึ้นจริง
ภายหลังจากการประชุม รายงาน “ประเด็นในอนาคตเกี่ยวกับอาชีวศึกษาในภูมิภาคอาเซียน”จะถูกนำเสนอให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผนแม่บทการศึกษา 5 ปี ของสำนักเลขาธิการอาเซียน
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 การประชุมหารือเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษา ได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดแรงงาน (RECOTVET) ของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งโครงการฯ เป็นเสมือนเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนหัวข้อสำคัญในการพัฒนาการอาชีวศึกษาสำหรับผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคอาเซียน
การประชุมหารือเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 ถูกจัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน สภาที่ปรึกษาเอกชนแห่งอาเซียน และโครงการ RECOTVET การประชุมครั้งนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้กำหนดนโยบายอาวุโสจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กระทรวงการศึกษาและแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์
ภายหลังการเจรจาหารือด้านนโยบายระดับภูมิภาคครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562 หน่วยงานด้านการศึกษาเชิงเทคนิคและการพัฒนาทักษะ (TESDA) ของฟิลิปปินส์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนและโครงการ RECOTVET จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “วาระการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในอาเซียน” เพื่อพิจารณาแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับพัฒนาระบบการฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายด้านทักษะของแรงงานท่ามกลางสภาวะโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมหารือเรื่องนโยบายด้านอาชีวศึกษาและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 9 สามารถดูได้ที่ https://sea-vet.net/events/457-2019-05-15-06-48-15