เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่แสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์จากขยะและเศษวัสดุเหลือใช้
ในฐานะของการเป็นองค์กรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ประกาศความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “ทะเลจร” องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เปิดตัวโครงการ “ศิลป์รักษ์โลก ประจำปี พ.ศ. 2560” (Arts for The Planet 2017) เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำวัสดุเหลือใช้หรือขยะมาเพิ่มมูลค่าจากการออกแบบอย่างมีคุณค่าผนวกกับนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มของคนรุ่นใหม่ในการแก้ปัญหาขยะซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบันของประเทศไทย
โครงการศิลป์รักษ์โลก จะเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) เป็นเวลา 14 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ.2560 โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรนี้ได้เรียนรู้และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการเห็นคุณประโยชน์ของเศษขยะและวัสดุเหลือใช้ที่ถูกมองข้าม รวมถึงวิธีการแปรสภาพเศษวัสดุเหล่านี้ให้สามารถนำกลับมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่และมีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นประจำในธุรกิจโรงแรม โครงการนี้นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
นักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตรการเรียนการสอนและโครงการศิลป์รักษ์โลกนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาพรวมของปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะและการจัดการวัสดุเหลือใช้ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการนำวัสดุเหลือใช้หรือขยะมาเพิ่มมูลค่าจากการออกแบบอย่างมีคุณค่า ซึ่งรวมถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Creative Center for Eco-design) และผู้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งทะเลจร (Tlejourn) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่รู้จักในการนำขยะที่เก็บจากทะเลมารีไซเคิลทำเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าอันมีเอกลักษณ์และเพิ่มมูลค่าด้วยไอเดียแปลกใหม่
ออนิกซ์ฯ ร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจ ได้แก่ เกียรติสยามเลเธอร์แวร์ ฮาวาย เฟอร์นิเจอร์ และอีอาร์พี จะมอบเงินทุนให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการศิลป์รักษ์โลก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นหลังจากการออกแบบ โดยบริษัททั้งสามดังกล่าว พร้อมให้ความร่วมมือในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบและขั้นตอนในการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเชื่อมต่อความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถนำมาผลิตใช้ประโยชน์ได้จริงและสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้นักศึกษาผู้ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นจากโครงการศิลป์รักษ์โลกประจำปี พ.ศ. 2560 จะได้รับมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป และทางออนิกซ์ฯ จะพิจารณานำผลงานผลิตภัณฑ์จากโครงการไปใช้ที่โรงแรมในเครือฯ อีกด้วย
ลิสา ทอมมัส ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมออนิกซ์ฯ กล่าวว่า “ออนิกซ์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นองค์กรที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เราจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนโครงการนี้ เพื่อกระตุ้นทั้งกลุ่มสาธารณชนและภาคธุรกิจให้ตระหนักถึงศักยภาพในการนำเอาเศษวัสดุมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (upcycling) และให้หันกลับมามองเศษวัสดุหรือขยะเหล่านี้ที่เคยมองข้ามไป ทางออนิกซ์ฯ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ดำเนินโครงการศิลป์รักษ์โลกร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab), ทะเลจร และคู่ค้าทางธุรกิจของเรา ในการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน”
###
เกี่ยวกับ ออนิกซ์ฯ
ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทบริหารจัดการแบรนด์โรงแรมชั้นนำของเอเชียแปซิฟิก บริหารหลายแบรนด์ที่แตกต่างและโดดเด่นทางด้านบริการ นั่นคือ อมารี โอโซ่ และชามา พร้อมตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ด้วยรากฐานการบริหารการโรงแรมที่มั่นคงในประเทศไทย ออนิกซ์ฯ นำเสนอระบบการบริหารจัดการในรูปแบบที่ทันสมัย ครอบคลุมแถบมหาสมุทรอินเดีย อ่าวอาหรับและเอเชียแปซิฟิก สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ www.onyx-hospitality.com.
เกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ
ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ (Scrap Lab) ตั้งงอยู่ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีปรัชญาการดำเนินงานเพื่อคิดค้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับการพัฒนาระบบนิเวศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเศษวัสดุเหลือใช้หรือขยะในรูปแบบต่างๆ มาแปรสภาพให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของ โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ในระบบการหมุนเวียนขยะและของเสียในอุตสาหกรรมโรงงาน การก่อสร้าง และชุมชน
เกี่ยวกับทะเลจร
ทะเลจร องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินโครงการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการรีไซเคิลพลาสติกเอทิลีนไวนิลแอซีเตด (EVA) จากชิ้นส่วนของขยะรองเท้าที่เก็บจากชายหาดและทะเลในประเทศไทย นำมาทำการปรับปรุงรูปโฉมใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับรองเท้าแตะและรองเท้าประเภทอื่นๆ