1

อว. สวทช. จับมือ บ.สกุลฎ์ซีฯ และ CWT ร่วมทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดอุตฯ ผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจร เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ลดการนำเข้า ยกระดับสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม

อว. สวทช. จับมือ บ.สกุลฎ์ซีฯ และ CWT ร่วมทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดอุตฯ ผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจร เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ลดการนำเข้า ยกระดับสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม

(10 มิถุนายน 2562) กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามการร่วมทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวสู่การผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจร (Modern Transportation) โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. คุณนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรรมการผู้จัดการ คุณวีรพลน์ เตชะผาสุกสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และคุณวีระพล ไชยธีรัตต์ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะสมัยใหม่แบบครบวงจรตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ลดการนำเข้า สร้างรายได้ เพิ่มความเข้มแข็ง ยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผ่านกลไกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับผู้ประกอบการและนักลงทุน ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนต่อยอดการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างการเชื่อมโยงให้ภาคความต้องการเข้าถึงผลงานวิจัยเกิดเป็นธุรกิจเทคโนโลยีที่มีมูลค่าได้สะดวกมากขึ้น ซึ่ง “กลไกการร่วมลงทุน”เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกำหนดการวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) โดย สวทช. ร่วมมือเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด

สำหรับการร่วมลงทุนในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ โดยทีมงานคนไทยสร้างโรงงานผลิตเรือและรถโดยสารขนาดเล็กจากอลูมิเนียมในระดับอุตสาหกรรมขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังตอบโจทย์การเพิ่มความเข้มแข็งของประเทศ เปลี่ยนจากผู้นำเข้าเป็นผู้พัฒนาเพื่อใช้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเรือในปัจจุบันเป็นการนำเข้า หรือประกอบโดยอู่ต่อเรือที่ต้องใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน ต้นทุนสูง และในส่วนของรถโดยสารขนาดเล็กก็เป็นการนำเข้าเช่นกัน อีกทั้งยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศอีกด้วย

“นอกเหนือจากที่ สวทช. ได้ให้บริการสนับสนุนบริษัทฯ ทั้งในด้านการออกแบบโครงสร้าง และวิเคราะห์ทดสอบความแข็งแรงของรถบัสและเรืออลูมีเนียม รวมทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติเรืออลูมีเนียมรุ่น F190 เพื่อขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว การร่วมลงทุนในครั้งนี้เป็นการผลักดันงานวิจัย และพัฒนาจากนักวิจัยไปสู่ภาคเอกชนต่อยอดผลิตภัณฑ์ยกระดับประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สร้างอุตสาหกรรมยานพาหนะให้เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย วทน. สร้างรายได้ลดการนำเข้าอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร. ณรงค์กล่าว

ด้าน นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกลุ่มบริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า ทางเรามีเทคโนโลยีอยู่หลายตัว การผันตัวมาทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครั้งนี้ ผมให้ความสำคัญการวิจัย และพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งการวิจัยแบบที่เราจะทำนั้นข้อสำคัญคือการเอาตลาดมาเป็นตัวตั้งโจทย์การวิจัย หมายถึงสเปคต้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และส่วนสำคัญที่สุดคือ ราคาต้องเป็นไปได้ในทางธุรกิจ หากเราวิจัย และพัฒนามาแล้วราคาสูง เอกชนซื้อไม่ได้ คือเท่ากับว่าเสียเวลาเปล่าในการทำ

สำหรับหรับการร่วมทุนกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะเติมเต็มให้กับสกุลฎ์ซีฯ ในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเกิดในอนาคต ทั้งที่พัฒนาโดยคนไทย และนักวิจัยเช้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการจัดระบบด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านบริหาร และพัฒนาเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป

ทางด้าน นายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า ในการร่วมมือกับทาง สวทช, ในครั้งนี้ นอกเหนือจากการพัฒนางานนวัตกรรมช่วงแรกอย่าง รถไฟฟ้าโดยสาร เรืออลูมิเนียมที่มีความปลอดภัยสูงแล้วนั้น ยังมีโครงการที่จะเตรียมทำต่ออีกหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการพัฒนาเรืออัจฉริยะ เรือ unman, เรือไฟฟ้า การนำใช้ระบบอัจฉริยะต่างๆเพื่อความปลอดภัย การใช้ Digital IoT technology สำหรับการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรม และการใช้งานเพื่อรองรับ AI ต่อไป

นายวีรพลน์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการที่กลุ่มบริษัทของเราพัฒนาจนมี Technology และ Knowhow การขึ้นรูปโลหะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับจากหลายค่ายรถชั้นนำ รวมถึงผันตัวเองมาพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิต จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น เรือ และ รถโดยสาร เป็นต้น และยังสามารถนำไปผลิต และประกอบตามมาตรฐานสากล และวางขายในเชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ไทยได้นั้น ยังคงมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดย การร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศ อย่าง สวทช. คือเพื่ออาศัยผู้ชำนาญการสร้างระบบจัดองค์ความรู้ระดับสูงที่ได้พัฒนาขึ้นมา ให้อยู่ในรูปแบที่เป็นสากล สามารถถ่ายทอดและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปแบบได้ อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาโดยคนไทยและนักวิจัยเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย

ด้าน นายวีระพล ไชยธีรัตต์ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT กล่าวว่า SAKUN C ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT การร่วมมือกันในครั้งนี้จะส่งผลให้ CWT มีความแข็งแกร่งขึ้นเป็นอย่างมาก และจะได้มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการผลิตยานพาหนะสมัยใหม่ และจะเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

และการร่วมมือกันในครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับวงการเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตนวัตกรรม และพัฒนากระบวนการผลิตโดยระบบ Automation ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงร่วมกันวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบ ยานยนต์สมัยใหม่ โดยใช้โครงสร้างน้ำหนักเบา และขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ตอบรับยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการวิจัย ด้านการพัฒนา และด้านการบริหารองค์ความรู้ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรในองค์กร เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไทยต่อไป