อมตะ-องค์กรรัฐ MOU เข้มความปลอดภัยใน “อมตะชิตี้ ชลบุรี”
ลดความเสี่ยงเหตุฉุกเฉินทุกพื้นที่เพิ่มระดับเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
อมตะ ร่วมกับ สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี การนิคมอุตสาหกรรมแหแห่งประเทศไทย ผนึก ภาคีจังหวัดชลบุรี และผู้ประกอบการ พันธมิตร ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ลดความเสี่ยงทั้งจากเหตุภาวะฉุกเฉินจากสถานประกอบการและอุบัติเหตุบนท้องถนนในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย-เทศ ลงทุนในนิคมฯ อมตะ พร้อมขยายฐานผู้ประกอบการเข้าโครงการฯร่วมขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยรับการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด Safety City, Smart City และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสมบูรณ์แบบ
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าวันนี้ (7 พ.ย.2562) ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือองค์กรเครือข่ายการป้องกันและตอบโต้เหตุฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรมอมตะชิตี้ ชลบุรี ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7- 8 พฤศจิกายน นี้ ณ ลานshowcase ตึก อมตะ เซอร์วิส เซนเตอร์ ภายใต้โครงการ Safety City , Smart City ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการในนิคมฯ อมตะ ชิตี้ ชลบุรีจำนวน 20 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายของสถานประกอบการในนิคมฯให้มีการป้องกันควบคุมและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมถึงการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้บริการในนิคมฯ โดยมีนายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานภายในงาน
ทั้งนี้เป้าหมายของความร่วมมือของการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นการยกระดับนิคมฯสู่เชิงนิเวศอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการนำเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคีเครือข่าย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็น สมาร์ท ซิตี้ ได้ในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีประชากรที่ประกอบอาชีพในนิคมฯ และพื้นที่โดยรอบ นิคมฯ กว่า 2 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุภาวะฉุกเฉิน รวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสถานประกอบการมีแนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการ รวมถึงการสร้างจิตสำนึก ให้พนักงาน และแรงงานที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ เช่น การสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนดในพื้นที่นิคมฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการในมาตรการต่างๆรวมกัน และจะนำไปสู่การขยายภาคีเครือข่ายร่วมกับสถานประกอบการอื่นๆเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นพร้อมกับการนำระบบเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจจับทั้งการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV เพื่อสำรวจวินัยจราจรของผู้ขับขี้ในจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่นิคมฯ เพื่อจะนำข้อมูลมาใช้ประกอบการจัดมาตรการความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม