“อมตะ”จับมืออินชอนสมาร์ทซิตี้เกาหลีใต้ พัฒนาโซนเมืองอัจฉริยะเกาหลีในนิคมฯอมตะนคร

0
555
image_pdfimage_printPrint

“อมตะ” จับมือ อินชอน สมาร์ทซิตี้ จากเกาหลีใต้ พัฒนาโซนพื้นที่สมาร์ทซิตี้เพื่อรองรับนักลงทุนเกาหลีย้ายฐานการผลิต ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ อมตะสมาร์ทซิตี้ มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี และประสบการณ์การพัฒนา โมเดลเมืองอัจฉริยะในเกาหลี ในนิคมฯอมตะนครจังหวัดชลบุรี

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และอดีตเลขาธิการอาเซียน เปิดเผยว่า วันนี้ (16 พ.ย.2560) อมตะได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทอินชอน สมาร์ทซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Incheon Smart City Corporation) จากเกาหลีใต้โดยมีนายโน ควังอิล (Noh Kwang-iI)เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยให้เกียรติเป็นสักขีพยาน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นการศึกษาการพัฒนาโซนเมืองอัจฉริยะเกาหลี (Korean Smart City Zone) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมในการพัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

“อมตะมีแผนจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกาหลี (Korean Smart City Zone) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของอมตะนคร ใน จ. ชลบุรีที่เรากำลังทำเป็นเมืองอัจฉริยะ ในเขต EEC ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะดึงดูดนักลงทุนมหาศาล และยังมีส่วนนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนา โดย อมตะสมาร์ทซิตี้ จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และจากเกาหลีใต้เข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ New S-Curve และอุตสาหกรรมดิจิทัล” ดร.สุรินทร์กล่าว

สำหรับความร่วมมือ กับอินชอน สมาร์ทซิตี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอมตะ สมาร์ทซิตี้ ครอบคลุมการพัฒนาในด้านต่างๆ 10 ด้านหลัก คือ : 1) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 2)การเดินทางอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) 4)สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 5) ระบบการศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education) 6) สายการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 7) เมืองอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Aerospace City) 8) นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation) 9) ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ10) การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance)

ปัจจุบันเกาหลีใต้ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ อันดับ 8 ที่เข้ามาลงทุนในไทยคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 8,900 ล้านบาท ในปี 2559 โดยมีบริษัทเกาหลีใต้ชั้นนำมากกว่า 300 บริษัทในไทยและข้อมูลจากองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ (Korea Trade Investment Promotion Agency : KOTRA) ระบุว่า บริษัทเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีแผนที่จะบริหารความเสี่ยงของธุรกิจโดยการย้ายฐานการผลิตจากจีน มายังประเทศไทยเพื่อใช้เป็นประตูในการส่งออก และขยายธุรกิจในอาเซียน

นายปาร์ก บียอง ชอน (Mr.Park Byung-cheol) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอินชอน สมาร์ทซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษอินชอน (Incheon Free Economic Zone Authority : IFEZ)

จัดตั้งขึ้นโดย บริษัทอินชอน สมาร์ทซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Incheon Smart City Corporation) ในรูปแบบกึ่งประชารัฐ หรือ Private and Public Collaborative Company (PPCC) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นโดยอาศัยเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุน

บริษัท อินชอน สมาร์ทซิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(Incheon Smart City Corporation) จัดตั้งขึ้นเมื่อ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2555 โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรระดับโลกในการจัดสร้างเมืองอัจฉริยะ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายติดต่อ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายโมเดลธุรกิจ สมาร์ทซิตี้ออกต่างประเทศ

“เกาหลีมีแผนที่จะพัฒนาสมาร์ทซิตี้เพื่อเป็นโมเดลหรือรูปแบบในการพัฒนา อุตสาหกรรมยุค 4.0 ที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขั้น พร้อมๆ กับการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมไฮเทคในระดับท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นที่เรื่องน่ายินดี ที่อมตะ กรุ๊ปก็ความความคิด ในการพัฒนาแบบเดียวกับ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอินชอน หรือ Incheon Free Economic Zone (IFEZ) และ อินชอน สมาร์ทซิตี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้มีส่วนช่วยสนับสนุนกันในการแบ่งปันเทคโนโลยี และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ จากเกาหลีสมาร์ทซิตี้ในการร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าวในนิคมฯอมตะนคร” นายปาร์ก บียอง ชอนกล่าว

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาที่ดิน เพื่อการอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทย ที่มีลูกค้ากว่า 1,000 บริษัท ทั้งในไทยและชั้นนำระดับโลก ที่เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง โดยแบ่งเป็น นิคมฯอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และนิคมฯอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยแต่ละปีโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมของอมตะผลิตสินค้าต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศไทย