อพวช. รับช่วงต่อพะยูน “มาเรียม” สตัฟฟ์เพื่อการศึกษาผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ทะเล เผยอีก 3 เดือนเสร็จ
อพวช. รับช่วงต่อพะยูน “มาเรียม” สตัฟฟ์เพื่อการศึกษาผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ทะเล เผยอีก 3 เดือนเสร็จ
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อพวช. รับร่างพะยูนน้อย “น้องมาเรียม” จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ซึ่งเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยเตรียมทำการสตัฟฟ์เพื่อการศึกษา หวังให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ มีการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงผ่านตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์เกือบทุกกลุ่ม การสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสานกับศิลปะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ซึ่ง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้น ๆ ของประเทศ
ด้าน ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า การสตัฟฟ์มาเรียม ทีมนัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กำลังวางแผนและหารือเรื่องวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สมบูรณ์และดีที่สุด โดยจะดำเนินการสตัฟฟ์หลังงามหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เสร็จสิ้นลง คาดว่าการสตัฟฟ์มาเรียมจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงแล้วเสร็จ
นายวัชระ สงวนสมบัติ ผอ.กองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา นัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กล่าวว่า อพวช. ได้เก็บรักษามาเรียมลูกพะยูนเอาไว้ในห้องแช่แข็ง ลบ 20 องศา เพื่อคงสภาพผิวหนังของมาเรียมไม่ให้เน่าเปื่อย ส่วนเรื่องการสตัฟฟ์ ต้องรอปรึกษากับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายอีกครั้งก่อน โดยการสตัฟฟ์สัตว์ คือ การนำหนังของสัตว์ที่ตายลงมาทำการรักษาสภาพใว้ให้ใกล้เคียงกับตอนมีชีวิต ในสภาพการเก็บแบบแห้ง โดยไม่มีโครงกระดูกและกระโหลกศีรษะ การสตัฟฟ์สัตว์ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้ผลงานออกมาเหมือนจริงมากที่สุด โดยเฉพาะ Anatomy กายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้นๆ ขณะที่ ความยากของการสตัฟฟ์ครั้งนี้ คือการรักษาสภาพหนังของมาเรียม เพราะหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น วาฬ โลมา และพะยูน จะมีไขมันค่อนข้างหนามากแทรกอยู่ จึงมีความยากกว่าการสตัฟฟ์สัตว์บก จึงต้องนำหนังผ่านกระบวนการเพื่อให้ไขมันออกจากหนังให้มากที่สุด มิฉะนั้นหนังจะเปียกเยิ้ม ไม่แห้ง และไม่สามารถขึ้นรูปให้คงสภาพตามที่ต้องการได้ อีกทั้งจะเกิดการเปื่อยยุ่ย ขึ้นรา เน่าเสีย หรือเสียหายได้ง่าย และยังต้องใช้การขึ้นรูปให้เสมือนจริงที่สุด รวมถึงเย็บผิวหนังและตกแต่งลักษณะภายนอกให้ถูกต้องและสวยงามอีกด้วย นอกจากการสตัฟฟ์แล้ว ยังสามารถต่อโครงกระดูกน้องมาเรียมเก็บไว้ศึกษาต่อได้อีกโดยทำหุ่นจำลองไว้หลาย ๆ ที่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และจดจำน้องมาเรียมตลอดไป