อพท.จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน มุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนใน 10 พื้นที่พิเศษจังหวัดเชียงราย

0
628
image_pdfimage_printPrint

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดโอกาสให้ 10 พื้นที่พิเศษในจังหวัดเชียงราย นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์งานฝืมือชาวบ้าน เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวให้ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและได้มาตรฐาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชนจากเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยอพท.สนับสนุนการอบรมให้ความรู้ เทคโนโลยีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ตลอดจนแนะนำช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการองค์การสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า “ความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยมีชุมชนท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมกันรักษาทรัพยากรท้องถิ่น พร้อมกับสร้างมูลค่าของทรัพยากรท่องเที่ยวให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนไปในตัวด้วย วันนี้ (5-6 มีนาคม 2562) อพท.มาพบกับผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอแม่สายและอำเภอเมือง เพื่อร่วมกันหารือ หาความต้องการขององค์กรส่วนท้องถิ่นว่าต้องการจะพัฒนาการท่องเที่ยวในบ้านของตนอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและมีมาตรฐานไปพร้อม ๆ กัน โดยอพท.มีการจัดทำโครงการพัฒนาและบูรณาการกลไกเครือข่ายการบริหารจัดการที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างมีเอกภาพขึ้นในปีงบประมาณ 2562 เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวขององค์กรส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรฐาน ฯ และเกิดความยั่งยืนขึ้น รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ 10 องค์กรของเชียงราย ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมสร้างประสบการณ์การบริหารจัดการการท่องเที่ยว เห็นโอกาสที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในบ้านของตน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างเป็นระบบและเกิดความยั่งยืนไปจนถึงลูกหลาน”
ดร.พรสุข ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประโยชน์ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นที่เข้าร่วมการอบรมจะได้รับคือ แหล่งท่องเที่ยวในองค์กรจะได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการ จนเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนขึ้น ช่วยป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรการท่องเที่ยว องค์กรได้รับการเพิ่มศักยภาพและสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุด ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบอีกด้วย”
การอบรมดังกล่าว จัดให้มีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนตุลาคม 2562 โดยตั้งแต่การเชิญชวนองค์กร เข้าร่วมโครงการ จัดให้มีการอบรม 3 รอบ โดยจะมีการประเมิน วิเคราะห์ จัดทำแผนงานกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐาน สำรวจพื้นที่กิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะดำเนินการ และเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญภายนอกรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว และสุดท้ายก็คือประกาศผลการดำเนินการรวมทั้งเผยแพร่ผลการดำเนินงานสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการรับรู้และนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น โดยมีบุคลากรขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของอำเภอแม่สาย และอำภอเมืองร่วมด้วยนั้น เป็นการชี้แจงรายละเอียดโครงการ การบรรยายเรื่อง “ท่องเที่ยวยั่งยืน อย่างมีมาตรฐาน ต้องทำอย่างไร” และการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ในหัวข้อ “เที่ยวไทยอย่างไร ให้ยั่งยืน” เป็นต้น

กิจกรรมการอบรม หารือ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมสยามไทรแองเกิล อำเภอเชียงแสน และ โรงแรมแกรนด์ วิสต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย