อธิบดีกสร. ลงพื้นที่สอบเหตุผู้เสียชีวิต 5 ราย ในบ่อน้ำเสีย ด้านซีพีเอฟยันรับผิดชอบจ่ายเงินช่วยเหลือเต็มที่
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในบ่อน้ำเสีย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซอยบางนา-ตราด 20 ถ.บางนา-ตราด กทม.
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่ากรณีมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ในบ่อน้ำเสีย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ตนเองได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุพร้อมด้วยพนักงานตรวจความปลอดภัยได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องตนพบว่า ในวันนี้ มีนักศึกษามาศึกษาดูงานภายในโรงงาน ในส่วนของขั้นตอนการพักน้ำเสีย จำนวน 2 คน โดยทางบริษัทมอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมเป็นคนนำนักศึกษาทั้ง 2 คน ดูขั้นตอนการทำงานต่างๆ บริเวณบ่อน้ำเสีย และได้เกิดอุบัติเหตุนักศึกษาหญิงหนึ่งรายพลัดตกลงไปในบ่อน้ำเสีย โดยเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมได้พยายามลงไปช่วยและจมหายไป จากนั้นพนักงานอีก 3 คน ได้ลงไปช่วยและประสบเหตุเช่นเดียวกันอีก โดยการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้อง จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย ลูกจ้างบริษัท 4 ราย ได้แก่ 1. นางสาวลักษ์ชนก แสนทวีสุข อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม 2. นายชาญชัย พันธุนาคิน อายุ 42 ปี หัวหน้าช่างซ่อมบำรุง 3. นายพรศักดิ์ บุญบาล อายุ 40 ปี หัวหน้างานอนามัย 4. นายชาตรี สีสันดร อายุ 53 ปี คนงานรายวันประจำ และนางสาวปัณฐิกา ตาสุวรรณ อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้ามาศึกษาดูงาน เบื้องต้นได้ตรวจสอบการจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าโอที นายจ้างได้โอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างแล้วก่อนเกิดเหตุในวันนี้ สำหรับกรณีดังกล่าวบริษัท ซีพีเอฟฯ จะรับผิดชอบเบื้องต้นโดยจ่ายเงินช่วยเหลือค่าทำศพ และค่าเคลื่อนย้ายศพไปยังภูมิลำเนา ตามระดับตำแหน่งหน้าที่การปฏิบัติงาน คือ หัวหน้างาน 1 ล้านบาท พนักงาน 6 แสนบาท คนงาน 2 แสนบาท และ 1 ล้านบาทสำหรับนักศึกษาดูงาน
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นพนักงานตรวจความปลอดภัยจะได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และรวบรวมพยานหลักฐานว่านายจ้างได้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมทั้งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ.2547 หรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวคือ ลูกจ้างไม่มีการประเมินอันตรายว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อับอากาศ และลูกจ้างไม่ได้รับการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด มีบทกำหนดโทษคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยได้มีหนังสือเชิญนายจ้างมาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ต่อไป .