1

“องค์การพลังงานโลก” เผยปัจจัยที่ภาคพลังงานทั่วโลกให้ความสำคัญในปี 2560

ผลสำรวจล่าสุดขององค์การพลังงานโลก (World Energy Council: WEC) เผยให้เห็นถึงลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในภาคพลังงาน รวมถึงแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นในการลดคาร์บอนในอนาคต โดยเทคโนโลยีพลิกโลกอย่างพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กำลังมีอิทธิพลต่อลำดับความสำคัญด้านการดำเนินงานของผู้นำในภาคพลังงานทั่วโลกในปี 2560

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในภาคพลังงานกว่า 1,200 ราย ใน 95 ประเทศ พบว่า พลังงานหมุนเวียนมีอิทธิพลอย่างสูงในทุกภูมิภาค โดยพลังงานแสงอาทิตย์มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแตะระดับ 227 กิกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2558 ขณะที่กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตรา 17.2% ในปีเดียวกัน

WEC เผยแพร่รายงาน World Energy Issues Monitor เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และในรายงานประจำปี 2560 หัวข้อ “Exposing the new energy realities” ได้ให้ภาพรวมของลำดับความสำคัญในปัจจุบัน จากมุมมองของผู้นำในภาคพลังงานทั่วโลก

Dr. Christoph Frei เลขาธิการ WEC เปิดเผยว่า “ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้นำในภาคพลังงานต่างเผชิญหน้าและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยปัญหาด้านนวัตกรรม อาทิ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ การกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง การออกแบบตลาดที่ทันสมัย และระบบเก็บสะสมพลังงาน กลายเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน บริบทด้านการเติบโตที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงความเสี่ยงทางกายภาพและดิจิทัล ก็ส่งผลต่อภาคพลังงานมากกว่าที่เคย จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เคยไร้ความสำคัญเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้กลายมาเป็นวาระด้านพลังงานระดับโลกในปัจจุบัน”

ข้อมูลอื่นๆที่ได้จากการสำรวจ ประกอบด้วย

– ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญอันดับหนึ่ง
– มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อันเนื่องมาจากนโยบายใหม่ของสหรัฐอเมริกา การที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรป
– มีความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงเสมือนรูปแบบใหม่ โดยการโจมตีบนโลกไซเบอร์กลายเป็นภัยคุกคามต่อภาคพลังงานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
– การแสวงหาและรักษาบุคลากรมากความสามารถให้อยู่กับองค์กรจะมีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงเป็นตัวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงาน

รายงานฉบับนี้จะได้รับการเผยแพร่ที่กรุงวอชิงตันและประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 6 เมษายน จากนั้นจะมีการนำเสนอในงานต่างๆในระดับภูมิภาค นอกจากนั้นจะถูกส่งไปยังกระทรวงต่างๆ ในกว่า 90 ประเทศด้วย อนึ่ง รายงานดังกล่าวจะเผยแพร่ล่วงหน้าในการประชุม Sustainable Energy for All Forum ขององค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก ในวันที่ 4 เมษายนนี้

Dr. Frei กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ภาคพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะเดียวกัน เรามองไม่เห็นเหตุผลที่จะทำให้แรงขับเคลื่อนภาคพลังงานในขณะนี้อ่อนแรงลง นอกจากนี้ แนวทางที่ภูมิภาคต่างๆใช้รับมือกับความท้าทายและความตึงเครียดที่ระบุในรายงานฉบับนี้ จะเป็นปัจจัยที่กำหนดวาระด้านพลังงานในอนาคต”

ข้อมูลเพิ่มเติม:

ดาวน์โหลดรายงานได้ที่ https://www.worldenergy.org/publications/2017/2017-world-energy-issues-monitor/

ที่มา: องค์การพลังงานโลก