องค์กรสิทธิเด็กนานาชาติเรียกร้องรัฐบาลไทย แก้ปัญหาสิทธิเด็กเนื่องในวันสิทธิเด็กสากล

0
908
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพ-องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล จับมือร่วมกับ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิที่ทำงานด้านช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านสิทธิเด็ก ทบทวนบทลงโทษผู้ล่วงละเมิดทางเพศต่อเยาวชน รวมถึงทบทวนการกำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่มีความผิดทางอาญา ตลอดจนให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติและลูกของแรงงานพลัดถิ่น

ด้วยในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิเด็กสากล และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการให้สัตยาบันการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยได้ดำเนินงานด้านการช่วยเหลือเด็กในเรื่องของการให้การศึกษาและสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าประเทศไทยก้าวล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อย่างไรตาม ปัญหาเด็กและเยาวชนยังมีช่องโหว่ที่ยังถูกลิดรอนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของบทลงโทษผู้กระทำความผิดด้านอนาจารเด็ก เช่น ผู้ผลิตภาพอนาจารเด็กยังไม่มีบทลงโทษอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับผู้จำหน่าย ซึ่งจะได้รับบทลงโทษตามกฎหมายของกระทรวงไอซีที ว่าด้วยการเผยแพร่ภาพตัดต่อ จำหน่ายภาพอนาจารเด็ก

 

ในส่วนของบุคคลที่ถูกกล่าวหา กรณีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก เมื่อมีกฎหมายให้มีการประกันตัว นั่นหมายถึงเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถหนีออกนอกประเทศ และกลับมาทำความผิดซ้ำได้อีก หรือไปทำความผิดที่อื่น และยังไม่มีลงโทษที่ชัดเจน ตลอดจนการกำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่มีความผิดทางอาญาที่อายุ 10 ปี เช่น เด็กอายุ 9 ขวบหากกระทำความผิดก็จะไม่ต้องรับโทษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือเป็นผู้เยาว์ แต่หากเป็นเด็กที่กระทำความผิดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นจะมีบทลงโทษตามกฎหมายอาญา ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 12 ปี อีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องเด็กไร้สัญชาติและเด็กที่เป็นแรงงานผลัดถิ่น ซึ่งยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ และการเดินทางออกนอกพื้นที่ เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่รับสัญชาติไทย

 

นายเจค ลูชี ผู้จัดการด้านการรณรงค์ระดับประเทศจากมูลนิธิศุภนิมิตร หนึ่งในผู้ร่วมออกแถลงการณ์ เปิดเผยว่า  “ตนมีโอกาสได้พบกับเด็กชนเผ่าคนหนึ่งอายุ 10 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในตอนเย็นของทุกวันเด็กคนนี้จะมาขายพวงมาลัยริมถนนให้กับรถที่สัญจรไปมา เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว เด็กบอกว่าเขาไม่ค่อยได้ทำการบ้าน เพราะไม่มีเวลา และตัวเขาเองก็เรียนช้ากว่าคนในห้อง เพราะที่บ้านไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นหลัก ขณะที่พ่อแม่ของเขาก็ไม่สนับสนุนให้เขาเรียนหนังสือ เพราะอยากให้มาช่วยทำงานมากกว่า อีกทั้งคนในครอบครัวก็ไม่มีบัตรประชาชน เป็นเหตุให้ทำอะไรไม่ได้เลย เจ็บป่วยก็ใช้บริการรักษาจากภาครัฐก็ไม่ได้”

 

“เรื่องราวของเด็กชนเผ่าคนนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพียงแต่เขาเป็นตัวแทนของเด็กอีกหลายๆ คนที่ยังมีชีวิตแบบนี้อยู่ในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเปิดหน้าต่างให้กับรัฐบาล ที่จะผลักดันให้เป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างในเรื่องของการปกป้องสิทธิเด็กให้กับประเทศอื่นๆ” นายเจค กล่าว