1

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดอันดับ บ.ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดอันดับบริษัทท่องเที่ยวระดับโลกด้านความตั้งใจในการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ป่า เนื่องในโอกาส วันท่องเที่ยวโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 27กันยายนของทุกปี โดยพบว่า Airbnb ทำคะแนนได้ดีที่สุดและเป็นเจ้าเดียวที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก รองลงมา ได้แก่ Booking.com, The Travel Corporation, TripAdvisor และ Viator

การจัดอันดับครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานเรื่อง Tracking the Travel Industry ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งประเมินนโยบายและการดำเนินงานบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำของโลก 14 แห่ง นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาและประเมินในลักษณะนี้ โดยมีเกณฑ์พิจารณา 4 ด้าน ได้แก่

คำมั่นสัญญา: การมีอยู่และคุณภาพของนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ และความสามารถในการนำนโยบายไปใช้กับแบรนด์ทั้งหมดของบริษัท
เป้าหมายและการดำเนินงาน: การมีอยู่และขอบเขตของเป้าหมาย เวลาที่ประกาศ รวมถึงการเผยแพร่รายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ให้ไว้
การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม: การมีอยู่และคุณภาพของการมีส่วนร่วมกับบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม เพื่อดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า
การเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค: การมีอยู่และคุณภาพของเนื้อหาและเครื่องมือในการให้การศึกษาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้บริการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า

Airbnb ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในการประเมินครั้งนี้ โดยได้คะแนนเต็มในประเด็นการห้ามมิให้มีการแสดง ต่อสู้ และแข่งขันสัตว์ป่าทุกชนิด นอกจากนี้ Airbnb ยังได้คะแนนสูงในด้านการกำหนดขอบเขตนโยบายของบริษัทที่ชัดเจน สามารถนำไปบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติกับพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทาน ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ ทั้งนี้ Airbnb ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิภาพสัตว์เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานสูงสุด

Mikel Freemon หัวหน้าฝ่ายสัตว์ของ Airbnb กล่าวว่า “เมื่อเปิดตัว Airbnb Animal Experiences เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเพื่อกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ทุกชนิด เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ และขอชมเชยทุกการดำเนินการของบริษัทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตของสัตว์ดีขึ้น”

“การตอบสนองอย่างกระตือรือร้นต่อ Airbnb Animal Experiences แสดงให้เห็นว่า ผู้คนต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์แบบเคารพกัน และพวกเราจะทำงานร่วมกับองค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์และชุมชนต่อไปเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของสัตว์”

ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งมีประเด็นสำคัญที่ยังต้องปรับปรุง เช่น Expedia และ Flight Centre ทั้งสองได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับ “ควรปรับปรุง” และ “ควรปรับปรุงอย่างมาก” ตามลำดับ ในขณะที่บริษัท GetYourGuide, Klook และ Musement จัดอยู่ในระดับ ‘ล้มเหลว’ ซึ่งรั้งท้ายตาราง บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการโดยทันทีเพื่อเพิ่มคำมั่นสัญญาในด้านสวัสดิภาพสัตว์ป่า

รายงานยังพบว่าหลายบริษัทท่องเที่ยวยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าเป็นจุดขาย เช่น บริการขี่ช้าง การถ่ายภาพเซลฟี่กับเสือ การขี่โลมา รวมถึงการแสดงละครสัตว์อื่นๆ เป็นต้น การใช้ประโยชน์จากสัตว์เหล่านี้ทำให้บริษัทด้านการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์มหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่อาจไม่ได้ตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นจากกระบวนการฝึกฝนสัตว์ป่าเหล่านั้น

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชะงักลงจนแทบหยุดนิ่งเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาศัยช่วงจังหวะนี้เป็นโอกาสดีในการพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจของตนที่มีจริยธรรมมากขึ้นด้วยการร่วมปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่า 

Audrey Mealia ผู้อำนวยการฝ่ายสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ผู้คนเริ่มคิดทบทวนเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวและเรื่อง New Normal เพราะพวกเราใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาด ในกรณีของการท่องเที่ยวสัตว์ป่า พวกเราทราบดีว่าผู้คนยังคงต้องการพบเจอสัตว์ป่า แต่ประสบการณ์นั้นต้องไม่แลกมาด้วยการทารุณกรรม”

“นักท่องเที่ยวเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์มากขึ้น และพวกเราจะเป็นกระบอกเสียงให้กับสัตว์ป่าต่อไป โดยเพิ่มแรงกดดันให้บริษัทท่องเที่ยวสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืน”

ผลสำรวจนักท่องเที่ยวทั่วโลกพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากใส่ใจในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ โดย 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าบริษัทท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทรมานสัตว์ป่า

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องต่อทุกฝ่าย ทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางในช่วงวันหยุดพักผ่อน ไปจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด ให้มีความรับผิดชอบและยุติการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าตลอดไป ความต้องการที่น้อยลงย่อมหมายถึงความทุกข์ทนของสัตว์ป่าที่น้อยลงตามไปด้วย

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังเรียกร้องผู้นำในกลุ่มประเทศ G20 ให้ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์และเศรษฐกิจโลกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/take-action/end-global-wildlife-trade-forever