องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยคลิปฝึกลูกช้างสุดทารุณ วอนทุกฝ่ายร่วมปกป้องสวัสดิภาพช้าง
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยแพร่วีดีโอกระบวนการฝึกลูกช้างในปัจจุบัน เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างการโชว์ช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง และป้อนอาหารช้าง พร้อมเรียกร้องนักท่องเที่ยวให้หยุดสนับสนุนกิจกรรมที่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง แนะภาครัฐเร่งแก้ปัญหามาตรฐานการดูแลช้างและยุติการผสมพันธุ์ช้าง
ในคลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นกระบวนการฝึกช้างที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การแยกลูกช้างจากแม่ช้าง ตั้งแต่ยังไม่หย่านม การทำลายสัญชาตญานสัตว์ป่าของลูกช้างแล้วแทนที่ด้วยความเจ็บปวดและความกลัวจากการใช้ตะขอสับหัว การใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่ การขังในซองแคบๆ การบังคับให้อยู่ในที่เสียงดังเพื่อให้เคยชินกับความเครียด ก่อนจะนำมาฝึกทักษะต่างๆ เพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การให้คนขี่หลัง อาบน้ำ และป้อนอาหาร ไปจนถึงการเต้นรำ การเดินสองขา การวาดรูป การใช้งวงยกวัตถุหนักๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติ สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ช้างไปตลอดชีวิต
ฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “จุดประสงค์หลักของเราในการนำเสนอคลิปนี้คือการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวและคนทั่วไปว่าเบื้องหลังของช้างตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เราอาจจะมองว่าน่ารักแสนรู้ จริงๆ แล้วต้องผ่านการฝึกที่โหดร้ายทารุณมาอย่างไรบ้าง เราอยากเห็นนักท่องเที่ยวหยุดสนับสนุนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อช้างและหันมาชมช้างตามที่อยู่ตามธรรมชาติ อย่างอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนแห่งชาติ และเราอยากเห็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหยุดเพิกเฉยกับความโหดร้ายทารุณ เร่งออกนโยบายและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ชัดเจนและจริงจังมากขึ้น”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระบุว่า ปัจจุบันช้างเลี้ยงส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกผสมพันธุ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 พบว่าประเทศไทยมีช้างเลี้ยง 2,779 ตัว เพิ่มขึ้นราว 60-70% เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า ซึ่งช้างเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ทางธุรกิจโดยเฉพาะ ไม่มีประโยชน์ด้านอนุรักษ์ช้างป่าแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถปล่อยสู่ป่าได้
ออเดรย์ มีเลีย ผู้อำนวยการฝ่ายสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เราต้องปฏิรูปความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัตว์ป่าใหม่ทั้งหมด ช้างเป็นสัตว์ป่าที่มีความเฉลียวฉลาดและมีอารมณ์ความรู้สึก แต่กลับตกเป็นเหยื่อของการค้าสัตว์ป่าอย่างโหดร้ายทารุณ เพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวตลอดชีวิต นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่เคยได้รับรู้ถึงความจริงข้อนี้ พวกเขาถูกหลอกให้เชื่อว่าการท่องเที่ยวลักษณะนี้คือการช่วยเหลือช้างและการอนุรักษ์ช้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นการสนับสนุนการทำร้ายช้างอย่างเป็นระบบ ความสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจเพียงชั่วครั้งชั่วคราวของเราคือความทุกข์ทรมานตลอดชีวิตของช้าง”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเสนอทางออกสำคัญคือกฎหมายยุติการผสมพันธุ์ช้างที่ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีช้างถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ช้างตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในปัจจุบัน ควรเป็นช้างกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนำมาหาประโยชน์ทางธุรกิจและต้องได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐาน สวัสดิภาพช้างผ่านรูปแบบปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง กล่าวคือ เปิดให้นักท่องเที่ยวสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงหรือทำกิจกรรมใดๆ ที่รบกวนช้าง ซึ่งปัจจุบันทำได้จริงแล้วหลายแห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังมีการรณรงค์ในระดับสากลเรียกร้องให้ผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 สนับสนุนการยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกด้วย
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังหยุดชะงักลงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ปางช้างอย่างน้อย 85 แห่งในประเทศไทยต้องปิดตัวลง และเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 5,000 คน ขณะที่ปางช้างที่เหลือต่างกำลังประสบปัญหาในการดูแลช้างของตน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ปางช้าง 13 แห่งทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นปางช้างที่ได้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อช่วยให้ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างสามารถอยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
ชมคลิปวีดิโอ www.worldanimalprotection.or.th/cruel-elephant-training-process
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เริ่มทำการประเมินข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับช้างในเอเชียเป็นครั้งแรก ในรายงาน Taken for a Ride เมื่อปี 2017 รายงานฉบับนี้ได้บันทึกสภาพความเป็นอยู่ที่ช้างกว่า 3,000 เชือกจะต้องทนอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วทั้งเอเชีย โดยมีสถานที่ท่องเที่ยว 220 แห่งที่ได้รับการสำรวจระหว่างปลายปี 2014 ถึงกลางปี 2016 ซึ่งรวมไปถึงปางช้างทั้งหมดที่สามารถยืนยันได้ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เนปาล และศรีลังกา รวมไปถึงสถานที่บางแห่งที่ได้รับการคัดเลือกในประเทศอินเดีย ทั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการสำรวจครั้งแรกขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในปี 2010 ที่มีเป้าหมายครอบคลุมสภาพความเป็นอยู่ของช้างในสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีชื่อว่า Wildlife on a Tightrope
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th