1

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกรุกรัฐสภายื่นร่างกฏหมายเรียกร้องให้ยุติ การผสมพันธุ์เสือในกรง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกรุกรัฐสภายื่นร่างกฏหมายเรียกร้องให้ยุติ
การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (ที่สองจากขวา) นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายโครงการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ที่สามจากขวา) นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย (ขวาสุด) นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า (ซ้ายสุด)
และ สัตวแพทย์หญิง ชนัดดา เครือประดับ ผู้ประสานงานโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ที่สองจากซ้าย)

นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก นำทีมโครงการรณรงค์ด้านสัตว์ป่า เข้าพบนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภาไทย ยื่นแก้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บางมาตรา เพื่อให้ครอบคลุมการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการขับเคลื่อนด้านนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์และการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ปัจจุบันประเทศไทยมีเสือในกรงเลี้ยงทั้งหมด 1,570 ตัว ที่อยู่ในสวนเสือต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเสือที่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น เช่น เสือโคร่งลูกผสมเบงกอล และเสือโคร่งลูกผสมไซบีเรีย การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เพียงเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนเสือ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น เช่น การป้อนนม การอุ้มเสือ การถ่ายรูปคู่กับเสือ และการแสดงโชว์ต่างๆ จากกรณีวัดเสือ เคยมีการพบซากลูกเสือและชิ้นส่วนของเสือเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้ในวัตถุประสงค์ในการทำยา (Traditional Medicine) และอาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหาประโยชน์ทางการค้าจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายได้

นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเสือว่า “ผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนของการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง คือ พันธุกรรมของเสือ อันเป็นผลมาจากการผสมเลือดชิด หรือเรียกว่าการผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ที่เป็นเครือญาติกัน จะทำให้เสือมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ บางตัวก็มีความผิดปกติด้านรูปร่างหรือสมอง ถือเป็นเรื่องที่สัตว์เหล่านี้ไม่สมควรจะได้รับ ดังนั้นเราจำเป็นต้องคำนึงถึงความเมตตาต่อสัตว์ และที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการใช้หลักอิสระห้าประการ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ด้านสุขภาพ การได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และไม่อยู่ในความทุกข์ทรมาน ”

นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า “กิจกรรมการเรียกร้องยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เราได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวร่วมกับภาคีกับประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงกฏหมาย ที่ต้องการให้สัตว์ป่าหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ทั้งนี้การยื่นเสนอร่างกฏหมายและข้อคิดเห็น ให้กับรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการผลักดันไม่ให้มีการอนุญาตผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างถาวร”

นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นในการรับมอบฯ ว่า “ทางรัฐสภาฯ มีความยินดีที่ได้รับมอบข้อเสนอจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและประชาชนผู้ริเริ่มในเรื่องข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และขอชื่นชมกับทางผู้ริเริ่มและเสนอกฎหมายแก้ไข พรบ. นี้ในมาตรา 28 ในเรื่องของการขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือ หลังจากนี้ ประธานสภาฯ จะรับยื่นข้อเสนอดังกล่าวและพิจารณาในทางกฎหมายฉบับนี้ ถูกต้องหรือไม่ หรือเข้าหลักการในหมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่ตรวจสอบแล้ว ทางประธานสภาฯ ก็จะแจ้งไปทางผู้ริเริ่มได้ดำเนินการต่อไป ถ้าไม่ถูกต้องก็จะแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป และเมื่อถูกต้องแล้ว ทางคณะผู้ริเริ่มฯ ก็จะต้องหาผู้สนับสนุนตามกฎหมายต่อไป”

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th
และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงชื่อสนับสนุนโครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการแสดงและปลดหล่อยความทุกข์ทรมาณของสัตว์ป่าในกรงขังได้ที่ https://worldanimalprotection.or.th/wildlife-not-entertainers

###
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /