1

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชูมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมลดผลกระทบของภัยร้ายจากเชื้อ “แบคทีเรียดื้อ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชูมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิภาพสัตว์

พร้อมลดผลกระทบของภัยร้ายจากเชื้อ “แบคทีเรียดื้อยา”

สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ประเทศสวีเดน ซึ่งนำโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ในฐานะผู้จัดงานหลัก จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์และสมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance จากทั่วโลก ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤต “แบคทีเรียดื้อยา (AMR)” หรือที่เรียกว่า “ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug)”  ที่กำลังทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อทุกชีวิตทั่วโลกอย่างเร่งด่วน โดยมีมติให้เน้นความสำคัญกับการจัดการเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มที่ขาดการดูแลใส่ใจในคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการปัญหาของการใช้ยาปฎิชีวนะในการรักษาโรคในสัตว์เกินขนาด ซึ่งนับเป็นกว่า 75% ของยาปฎิชีวนะที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน

อนึ่งทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยข้อเรียกร้องในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 68 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่มีต่อยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นแนวโน้มเชื้อโรคดื้อยาที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนมากที่สุด โดยสมัชชาฯ มีข้อสรุปเพื่อ ร่วมลงนามในแผนการดำเนินการทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการวางมาตรการเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันยาปฎิชีวนะ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกอย่างเกินความจำเป็น  โดยผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าหาก ไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2593 จะมียอดผู้เสียชีวิตจากภัยร้ายของแบคทีเรียดื้อยามากถึง 10 ล้านคนต่อปี เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างร้ายแรงที่สุด

โดยผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติในครั้งนี้เป็นสมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เมื่อปี พ.ศ.2562  ซึ่งมีสมาชิกฯ ประกอบด้วย บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม ฟาร์มเลี้ยงสุกร นักวิจัย องค์กรเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความสนใจในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา โดยจัดให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการยุติปัญหาการตัดตอนอวัยวะที่สร้างความเจ็บปวดให้กับลูกหมู ได้แก่ การตัดหาง การกรอฟัน และการทำหมันด้วยการตอน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะ เกินความจำเป็น   ดังนั้นทางเครือข่าย 3Ts Alliance จึงมีข้อตกลงในการสร้างและพัฒนาช่องทางติดต่อสื่อสารขึ้น โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าภายในปีพ.ศ. 2563 ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารของโลกเกิดการตื่นตัว และให้คำมั่นในการลดขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดเหล่านี้ในลูกหมูทั่วโลก รวมถึงผู้ค้าปลีกเอง ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  รวมถึงให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายฯ

ทั้งนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้นำเสนอกรณีศึกษาของภาคธุรกิจในเรื่อง แบ่งปันความสำเร็จ: กรณีศึกษาภาคธุรกิจเพื่อการยกระดับสวัสดิภาพสุกรขุน* เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์ม โดยยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู เช่น การตัดหาง การกรอฟัน และการผ่าตัดทำหมัน พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการเลี้ยงภายในฟาร์ม ทั้งการเพิ่มพื้นที่เลี้ยงเพื่อให้สัตว์สามารถเคลื่อนไหวได้ ยุติกระบวนการที่สร้างความเจ็บปวดในสัตว์ รวมถึงให้โอกาสสัตว์ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และช่วยลดความต้องการในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ได้ผลอีกทางหนึ่งด้วย

Jenny Lundstrom สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวีเดน กล่าวว่า “มาตรฐานในสวัสดิภาพของสัตว์ ที่มีค่าเฉลี่ยสูง แสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มที่ต่ำ ซึ่งสิ่งนี้จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากผู้ค้าปลีกตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศสวีเดนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์สามารถช่วยแก้ไขปัญหายาปฎิชีวนะดื้อยาได้จริง และสามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ในการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน”

ศุภวัฒน์ สุปัญญารักษ์ ตัวแทนจาก ซีพีฟู้ดส์ ประเทศไทย (CP Foods) กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก เราจึงมีหน้าที่ในการรักษามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในระดับสูง รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ และเรามีความภาคภูมิใจในการทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อจะยุติการเลี้ยงแม่หมูในระบบกรงขัง ตลอดจนมีการวางนโยบายเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ให้การสนับสนุนเครือข่าย 3Ts Alliance อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต เพื่อร่วมยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู ตามแนวทางที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โดย ซีพีฟู้ดส์ (CP Foods) ตั้งเป้าที่จะขยายการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อให้สุกรได้มีโอกาสแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงขั้นตอน ที่สร้างความเจ็บปวดต่างๆ ในอนาคต”

*แบ่งปันความสำเร็จ: กรณีศึกษาภาคธุรกิจเพื่อการยกระดับสวัสดิภาพสุกรขุน

https://d31j74p4lpxrfp.cloudfront.net/sites/default/files/int_files/sharing_success_-_gbc_pigs_raised_for_meat-final_moderate_size_pdf.pdf

ข้อมูลเพิ่มเติม

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอสัมภาษณ์สมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance สามารถติดต่อองค์กรฯ ได้ที่

คุณ โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
อีเมลChokdee@worldanimalprotection.or.th

สมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance ที่เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบไปด้วย

Sarah Ison ที่ปรึกษาด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์สากล องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (สหราชอาณาจักร)

Kate Blaszak ที่ปรึกษาด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์สากล องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (สิงคโปร์)

Jacqueline Mills หัวหน้าฝ่ายฟาร์มเลี้ยงสัตว์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ออสเตรเลีย)

Heleen van de Weerd ผู้อำนวยการ (ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมและสวัสดิภาพ), Cerebrus Associates (สหราชอาณาจักร)

Jeremy Marchant-Forde นักวิจัย United States Department of Agriculture (สหรัฐอเมริกา)

Thuy Huynh T.T ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส Department of Animal Health (เวียดนาม)

Johannes Vugts ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการผลิตสุกร HKScan (ฟินแลนด์) 

Maria Murillo-Mariscal ฝ่ายเทคนิค & ผู้จัดการมาตรฐานฟาร์ม Winterbotham Darby (สหราชอาณาจักร)

Elena Nalon ที่ปรึกษาสัตวแพทย์ Farm Animals, Eurogroup for Animals(เบลเยี่ยม)

ศุภวัฒน์ สุปัญญารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุกร ซีพีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) CP Foods

Tamara Borges ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืน BRF (บราซิล)

และ Ivomar Oldoni หัวหน้าฝ่ายผลิตไก่และสุกร JBS (บลาซิล)

อักษร 3T หมายถึง ฟัน teeth, หาง tails และอัณฑะ testicles ซึ่งรวมกันเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่ม ในการทำให้อวัยวะเหล่านี้ยังอยู่ครบ และเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สู่การยกระดับสวัสดิภาพสุกรทั่วโลก
แคมเปญ Raise Pigs Right และ Change for Chickens ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้ออกมาร่วมกันเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอาหารยุติการทารุณสัตว์จำนวนนับพันล้านตัวในฟาร์มเพาะเลี้ยง
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ที่ www.worldanimalprotectioorg

###

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /