1

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยื่นจดหมายการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยื่นจดหมายเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมาย
เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์และการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นางผ่องศรี แซ่จึง (ที่สี่จากซ้าย) นายดํารงค์ พิเดช (ซ้ายสุด) นายสิงหภณ ดีนาง (ที่สามจากซ้าย) นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง (ที่สองจากขวา) ผู้แทนคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นายนิติพล ผิวเหมาะ โฆษกประจำกรรมาธิการฯ (กลางภาพ) นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (ที่สามจากขวา) นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย (ที่สองจากซ้าย) นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ขวาสุด)
###
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) นำโดย นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรฯ พร้อมคณะทำงานร่วมเข้ายื่นจดหมายเรียกร้องต่อผู้แทนคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ในประเด็นต่างๆ อาทิ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ การบังคับใช้ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ป่าที่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยมี นางผ่องศรี แซ่จึง, นายดํารงค์ พิเดช, นายสิงหภณ ดีนาง, นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ผู้แทนคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ และนายนิติพล ผิวเหมาะ โฆษกประจำกรรมาธิการฯ รับมอบข้อเรียกร้อง ณ อาคารรัฐสภา นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “การยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรฯ ในการทำงานเพื่อสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราทำการรณรงค์ไปทั่วโลกภายใต้แคมเปญ “สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง” โดยที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น ช้าง เสือ และโลมา อันส่งผลกระทบให้สัตว์ป่าเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดจากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ และต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานในกรงขังไปตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันมีกระแสต่อต้านและห้ามใช้สัตว์ป่าเพื่อการแสดงในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และทุกวันนี้นักท่องเที่ยวเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยเองจึงควรมีการปรับปรุงกฏหมายเพื่อยุติการใช้สัตว์ป่าเพื่อการแสดง ซึ่งเป็นเหตุผลให้เรามายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้”
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “เรามีความพยายามที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในการนำสัตว์ป่ามาใช้ในธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะในแง่กฏหมายนั้นยังมีประเด็นให้ปรับปรุงและแก้ไขเพื่อนำมาสู่การปกป้องสวัสดิภาพสัตว์และช่วยยุติการทรมานสัตว์ป่าอย่างถาวรอีกหลายข้อ”

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงชื่อสนับสนุนโครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการแสดงและปลดปล่อยความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่าในกรงขังได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/wildlife-not-entertainers

####

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th