องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้ยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมด

0
249
image_pdfimage_printPrint

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องให้ยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมด

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมด พร้อมเน้นย้ำถึงขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากข่าวกรณีเสือโคร่งที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 147 ตัว และนำมาดูแล ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ปี 2559 ได้ทยอยล้มตายลงอย่างต่อเนื่องด้วยโรคไวรัสไข้หัดสุนัข และอาการอัมพาต ลิ้นกล่องเสียง โดยที่เสือเหล่านี้มีประวัติที่เกิดจากการผสมแบบเลือดชิด ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ถูกเลี้ยงแบบกักขังในพื้นที่จำกัด และไม่มีสวัสดิภาพที่ดีพอ ดังนั้นทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงได้มีการรณรงค์ในทางนโยบายเรียกร้องให้ยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมด และเพื่อขจัดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับเสือให้หมดไป

สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึง การทารุณเสือว่า “เสือในกรงเลี้ยงบ้านเรา ส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น มีการผสมพันธุ์และขยายพันธุ์เสือ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์จากเสือโดยตรง เช่น การจัดให้มีกิจกรรมป้อนนมเพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหรือบังคับให้แสดงเพื่อการหารายได้ เป็นต้น ด้วยผลประโยชน์จากรายได้ดังกล่าวจึงเป็นการขยายพันธุ์ที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ เสือจึงมีความเป็นอยู่และต้องใช้ชีวิตในกรงเลี้ยงที่แคบ ไม่มีสวัสดิภาพที่ดีพอ ทำให้ทุกข์ทรมานและเจ็บป่วยจนตาย ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างอิสระในป่ากว้างตามธรรมชาติ ดังนั้นทาง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตราการและกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมในการยุติการผสมพันธุ์และขยายพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างทรมาน และตัดวงจรการตายของเสือตามที่เป็นข่าว”

Dr. Jan Schmidt-Burbach ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้กล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งเตือนใจที่น่าเศร้า ว่าการเพาะพันธุ์เสือเพื่อนำมาจัดแสดงให้กับนักท่องเที่ยวนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในเชิงอนุรักษ์เลย นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสัตว์ทุกตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว มันยังมีความเชื่อมโยงกับขบวนการลักลอบค้าผลิตภัณฑ์จากอวัยวะต่างๆ ของเสือที่ผิดกฎหมายอีกด้วย จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมือทำอะไรบางอย่างโดยเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งสถานที่เหล่านี้ในการแสวงหาประโยชน์จากการทารุณสัตว์ พร้อมกันนี้ทางองค์กรฯ ขอแสดงความชื่นชมกับหน่วยงานราชการของไทยในหลายมาตรการที่ได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเฝ้าติดตามสถานที่เพาะพันธุ์เสือในที่เลี้ยงแต่ในการที่จะยุติความทุกข์ทรมานของบรรดาเสือในที่เลี้ยงอย่างสิ้นเชิงและถาวรนั้น เราต้องการเห็นนโยบายห้ามการเพาะพันธุ์เสือเพื่อประโยชน์ทางการค้าตลอดไป เพราะการเลี้ยงเสือในกรงเลี้ยงไม่สามารถตอบสนองธรรมชาติและความต้องการของเสือได้ ธุรกิจที่มีเม็ดเงินมหาศาลจากการทรมานเสือเพื่อผลกำไรจะต้องสิ้นสุดลง เสือเป็นสัตว์ป่า และพวกมันสมควรที่จะได้อยู่ในป่า ไม่ใช่ถูกกักขังอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยว”

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเสือที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย เมื่อปี 2553 มีจำนวน 623 ตัว เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งในสาม (33%) จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,570 ตัว ใน 2562 แต่เป็นที่น่ากังวลเพราะส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นควรยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th
หรือร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงที่ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ได้ที่ http://bit.ly/2I9JESi
###

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติ และสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ – ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th