หัวเว่ย เปิดงาน Global Analyst Summit (HAS) ประจำปีครั้งที่ 16 เมื่อวานนี้ ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งภายในงาน กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอรไพรส์ของหัวเว่ย (หัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์) พร้อมด้วยบริษัท Vanke และสถาบันวิจัยบิ๊กดาต้าเมืองอัจฉริยะเซินเจิ้น (Shenzhen Big Data Research Institute of Smart City) รวมถึงเหล่านักวิเคราะห์และผู้นำทางความคิดจากทั่วโลก ได้ร่วมกันอภิปรายถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อและความเป็นอัจฉริยะ ในขณะที่องค์กรธุรกิจและรัฐบาลต่างพยายามเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Leading New ICT – Intelligence, Connectivity and Platform” นายชิว เหิง ประธานฝ่ายการตลาดทั่วโลกของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า “การวางตำแหน่งใหม่ของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบการเชื่อมต่อที่เข้าถึงทุกหนแห่งและความเป็นอัจฉริยะที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนแก่รัฐบาลและลูกค้าองค์กร ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา เรามุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐาน ICT ที่แข็งแกร่งสำหรับโลกดิจิทัลผ่านการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ผสมผสาน ICT รูปแบบใหม่ดังกล่าว เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์”
ในด้านการเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นสาขาที่หัวเว่ยเป็นผู้นำ นายชิว เหิง ได้ชูผลิตภัณฑ์ AirEngine ซึ่งเป็น Wi-Fi 6 AP ที่สนับสนุนโดยเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย และ CloudEngine ซึ่งเป็นสวิตช์เครือข่ายศูนย์ข้อมูลที่เร็วที่สุดสำหรับยุค AI นายชิว เหิง อธิบายว่า หัวเว่ยสามารถขยายความเป็นอัจฉริยะครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ด้วยการรวม AI เข้าในผลิตภัณฑ์ คลาวด์ และโซลูชั่นอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นายชิว เหิง ยังได้แนะนำกล้อง AI ตัวแรกของโลกที่กำหนดการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจุดแข็งของหัวเว่ยไม่ได้อยู่เพียงแค่กล้องโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกล้องระดับองค์กรด้วย นายชิว เหิง ยังได้เปิดเผยให้ผู้ร่วมงานได้รับทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ All-Flash OceanStor Dorado ของหัวเว่ย ที่รวมความสามารถอัจฉริยะหลากหลายด้าน และเป็นโซลูชั่นการจัดเก็บข้อมูลแบบออลแฟลชที่เร็วที่สุดในโลก
แพลตฟอร์มดิจิทัลของหัวเว่ยหนุนอุตสาหกรรมแนวดิ่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้เร็วขึ้น
แพลตฟอร์มดิจิทัลของหัวเว่ยสามารถรับมือกับความท้าทายหลักในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งก็คือ การเชื่อมโลกกายภาพกับโลกดิจิทัลเข้าด้วยกันเพื่อกระตุ้นการใช้งานข้อมูลที่หยุดนิ่งในโลกกายภาพ แพลตฟอร์มระดับอุตสาหกรรมของหัวเว่ยช่วยเชื่อมต่อข้อมูล IT และ OT รวมขีดความสามารถด้านต่าง ๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม และสั่งสมความรู้ในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตามข้อกำหนดของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังเชื่อมโยงนักพัฒนาในอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมแนวดิ่ง
ไซม่อน หลี่ รองผู้จัดการทั่วไปของ Wanyi Technology ในเครือ Vanke ได้แบ่งปันวิธีการที่แพลตฟอร์มดิจิทัลของหัวเว่ยช่วยให้ Vanke เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นายหลี่กล่าวว่า “โมเดลธุรกิจแบบมัลติบิสสิเนส มัลติโลเคชั่น และมัลติเซอร์วิส ทำให้ Vanke ต้องเผชิญกับข้อกำหนดใหม่ ๆ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยได้เข้ามาช่วยด้วยการจัดหาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวมเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น บิ๊กดาต้า IoT และ AI เพื่อช่วยเราพัฒนาธุรกิจออฟไลน์ และสร้าง Vanke แบบออนไลน์ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวโดยอาศัยเครือข่ายแคมปัสดิจิทัลที่เป็นอัจฉริยะ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ เรามีฟังก์ชั่นการทำงานที่มีบริการเป็นพื้นฐาน มีบริการที่มีผลิตภัณฑ์เป็นพื้นฐาน มีผลิตภัณฑ์ที่มีแพลตฟอร์มเป็นพื้นฐาน และมีแพลตฟอร์มที่มีระบบนิเวศเป็นพื้นฐาน”
เฉิน ตงผิง ประธานสถาบันวิจัย Shenzhen Big Data Research Institute of Smart City ซึ่งเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ ได้แสดงความหวังสำหรับอนาคตว่า “ความแตกต่างระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลในยุคดิจิทัล กับแพลตฟอร์มข้อมูลแห่งยุคอุตสาหกรรมนั้น อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวสนับสนุนเมืองทั้งเมือง ในขณะที่แพลตฟอร์มข้อมูลช่วยสนับสนุนเฉพาะอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าหากไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลระดับเมืองที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ก็จะไม่มีเมืองอัจฉริยะหรือรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง”
AirEngine ผลิตภัณฑ์ Wi-Fi 6 AP ที่สนับสนุนโดยเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ช่วยขับเคลื่อนการเชื่อมต่อและความเป็นอัจฉริยะ
หัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ มีผลิตภัณฑ์เรือธงมากมายที่เป็นผู้นำตลาดการเชื่อมต่อและความเป็นอัจฉริยะ ที่เห็นได้ชัดคือ ผลิตภัณฑ์ AirEngine ของหัวเว่ย ซึ่งเป็น Wi-Fi 6 AP เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกที่มีการนำเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยมาใช้เพื่อบรรลุอัตราการรับส่งข้อมูลที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม รายงานผลการทดสอบจาก Tolly ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทดลองอิสระชั้นนำ เปิดเผยว่า Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยมีความเร็วกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดถึง 1 Gbps และด้วยการใช้เทคโนโลยีวิทยุอัจฉริยะ 5G ทำให้ Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยมีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่ามาตรฐาน Wi-Fi 6 ของอุตสาหกรรมถึง 40% นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีเร่งความเร็วยังทำให้ Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยมีค่าความหน่วงต่ำเพียง 10 ms ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐาน Wi-Fi 6 ในอุตสาหกรรมถึง 50% ดังนั้นจึงไม่พบความติดขัดในระหว่างการใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือ Augmented Reality (AR) และด้วยการนำเทคโนโลยีสัญญาณมือถือ 5G มาใช้กับ Wi-Fi ยังทำให้ Wi-Fi 6 ของหัวเว่ย สามารถป้องกันรถยนต์ที่มีระบบนำทางอัตโนมัติ (AGV) จากกรณีข้อมูลสูญหายในช่วงที่มีการเปลี่ยน AP ทั้งยังสามารถใช้สัญญาณได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพทั่วเครือข่ายแคมปัส
กลยุทธ์ “Platform + AI + Ecosystem” ของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ เน้นไปที่ความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อมอบการเชื่อมต่อที่เข้าถึงทุกแห่งและความเป็นอัจฉริยะที่ครอบคลุมสำหรับลูกค้าทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐและบริษัท นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเป็นผู้ส่งมอบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รวม ICT รูปแบบใหม่ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ กว่า 700 แห่งทั่วโลก และบริษัทในทำเนียบ Fortune Global 500 อีก 211 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ติด 100 อันดับแรกจำนวน 48 แห่ง ได้เลือกหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นพันธมิตรสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
งาน Huawei Global Analyst Summit 2019 จัดขึ้นในวันที่ 16-18 เมษายน โดยภายในงานประกอบด้วยการประชุมหลากหลายหัวข้อ และผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ซึ่งจะมามอบความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหัวข้อและแนวโน้มต่าง ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/press-events/events/has2019