บริษัทวิจัยการตลาด IDC ได้เปิดเผยรายงาน IDC MarketScape ที่ทำการประเมินเกี่ยวกับตลาดและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์คลาวด์สำหรับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของจีน ซึ่งผลปรากฏว่า โซลูชั่นคลาวด์ของหัวเว่ยได้แก่ Huawei Cloud e-Government Solution ติดกลุ่ม “”ผู้นำ”” (Leaders) เนื่องด้วยจุดแข็งที่โดดเด่น โดยเฉพาะความครอบคลุมที่ได้เปรียบและแผนงานที่รองรับอนาคต รายงานระบุว่า Huawei Cloud e-Government Solution คว้าอันดับหนึ่งในสามด้านด้วยกัน ได้แก่ ขีดความสามารถปัจจุบัน กลยุทธ์ และผลการดำเนินงานทางการตลาด ซึ่งผลการประเมินนี้สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า Huawei Cloud ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรม
Huawei Cloud ประกอบด้วยคลาวด์เอกชนและคลาวด์สาธารณะ และสนับสนุนการติดตั้งที่ยืดหยุ่นในรูปของคลาวด์แบบไฮบริด โซลูชั่นคลาวด์เหล่านี้ใช้เลเยอร์ IaaS เป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางโครงการก็สามารถขยายไปสู่เลเยอร์ PaaS และ Big Data เพื่อให้สามารถรองรับระบบบริการภาครัฐได้ โซลูชั่นนี้มีโมเดลธุรกิจให้เลือกหลายรูปแบบ ได้แก่ สร้างใหม่ เช่า และจ่ายค่าบริการตามการใช้งานจริง (pay-per-use) เพื่อช่วยลูกค้าภาครัฐเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของลูกค้ากลุ่มรัฐบาลในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เงินทุนสูง ความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ของข้อมูล และรูปแบบการใช้งานอัจฉริยะ Huawei Cloud e-Government Solution จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริการ เช่น เครือข่ายบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, แพลตฟอร์มรายการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรสาธารณะ, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ผ่านคลาวด์, การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ, แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลรัฐบาล, คลาวด์แบบสองระดับ, ศูนย์ข้อมูลคลาวด์สำหรับอี-กัฟเวอร์เมนท์ และบิ๊กดาต้าสำหรับอี-กัฟเวอร์เมนท์
ปัจจุบัน หัวเว่ยให้บริการโซลูชั่นคลาวด์สำหรับอี-กัฟเวอร์เมนท์แก่ลูกค้าภาครัฐ ประกอบด้วยระดับกระทรวง 16 ราย, ระดับมณฑล 15 ราย (เช่นในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และเจียงซี) และระดับเทศบาลหรือเขต/เทศมณฑลกว่า 200 ราย (เช่นในกว่างโจว และเซินเจิ้น) สำหรับในต่างประเทศนั้น หัวเว่ยให้บริการลูกค้ากลุ่มรัฐบาลมากกว่า 100 รายจากกว่า 80 ประเทศ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิด OpenLabs ทั่วโลก เพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านคลาวด์และเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรในระบบนิเวศมากกว่า 300 ราย ในฐานะที่เป็นสมาชิกระดับแพลตินัมและเป็นสมาชิกบอร์ด OpenStack ในเอเชีย หัวเว่ยได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการโอเพ่นซอร์สต่างๆ อันเป็นการยกระดับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและเพิ่มความน่าเชื่อถือของหัวเว่ยในระดับนานานาชาติ