หัวเว่ยเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในกรุงเทพฯ

0
350
image_pdfimage_printPrint

8B0A6488_resized2

สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของหัวเว่ย พรั่งพร้อมด้วยศูนย์ฝึกอบรมที่ติดตั้งอุปกรณ์ครบครัน รวมทั้งศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC ที่จะทำให้หัวเว่ยมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น

หัวเว่ย ผู้จัดหาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำของโลก
จัดพิธีเปิดสำนักงานประจำภูมิภาคในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ โดยมี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรมโซลูชั่นและการเรียนรู้ และศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่ของหัวเว่ยอีกด้วย ตั้งอยู่บนชั้น 10 – 13 ของอาคารจีพีเอฟ วิทยุ ทาวเวอร์ บี ถนนวิทยุ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 4,380 ตารางเมตร

เปิดสำนักงานใหญ่รองรับโอเปอเรเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานถึง 19 ปี หัวเว่ยตัดสินใจเลือกเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้ ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญของหัวเว่ยและมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ของไทยอันเป็นเสมือนประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ความชื่นชอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของผู้บริโภคชาวไทย และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศในประเทศไทย (International Headquarters: IHQ) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

“เป็นการตัดสินใจที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย” มร. เดวิด ซุน ประธานบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “เราเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่การเป็นไอซีทีฮับของภูมิภาค และเราจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ในขณะที่ศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และดิจิทัลก็ยังมีอีกมาก เราจึงจะทำงานร่วมมือกับรัฐบาล ลูกค้าและพันธมิตรในอุตสาหกรรมไอซีที และทุกภาคส่วนของสังคมต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

ศูนย์ CSIC และศูนย์ฝึกอบรมของหัวเว่ย ช่วยพัฒนาโครงข่ายด้านไอซีทีและเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center – CSIC) ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และผลักดันให้ไทยได้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค

ศูนย์ CSIC เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมระดับโลกอันทันสมัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ รวมถึงออกแบบ พัฒนา และสร้างสรรค์โซลูชั่นและแอพลิเคชั่นด้านไอซีทีขึ้นเองได้ โซนจัดแสดงภายในศูนย์ CSIC ได้รวบรวมเอาตัวอย่างแอพลิเคชั่นและบริการอื่น ๆ จากลูกค้าและห้องปฏิบัติการฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของหัวเว่ยเอาไว้กว่า 120 รายการ อาทิเช่น 4K Video, เทคโนโลยี IoT, บรอดแบนด์แห่งชาติ, เครือข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำ และโมบายล์ บรอดแบนด์

ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC ในกรุงเทพฯ แห่งนี้ รองรับกลุ่มผู้ที่สนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอคุณค่าสำคัญ 3 ประการให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชม นั่นคือ เป็นเสมือนหน้าต่างที่เผยให้เห็นตัวอย่างแนวทางการนำเทคโนโลยีไปใช้ที่ดีที่สุดของโลก เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดและนวัตกรรมโซลูชั่นทางธุรกิจ และเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างระบบนิเวศไอซีทีที่ให้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

นอกเหนือจากโซลูชั่นเครือข่ายที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพแล้ว ผู้มาเยี่ยมชมยังสามารถสัมผัสประสบการณ์ด้านนวัตกรรมโซลูชั่นเชิงธุรกิจสำหรับองค์กรของหัวเว่ยได้อีกด้วย อาทิ โซลูชั่น “Safe City” รวมถึงสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่สำหรับผู้บริโภคตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Mate 8 ที่ดีไซน์สำหรับการใช้งานอันเปี่ยมพลังและประสิทธิภาพ หรือสมาร์ทโฟนรุ่น P9 และ P9 Plus ที่นำฟีเจอร์ถ่ายรูปให้ก้าวไปอีกระดับ และเป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้ P9 หรือ P9 Plus ที่จะได้สัมผัสกับกล้องคุณภาพเยี่ยมจาก LEICA ที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ยเพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน

• Personal Zone – จัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชั่นล่าสุด เพื่อประสบการณ์การเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างผู้คน ทั้งการโฮสติ้ง แทรฟฟิค และบิ๊กดาต้า
• Home Zone – สาธิตการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เพื่อทำบ้านให้เป็น “Smart Home” อาทิ e-Health, Video Everywhere และ 4K TV หรือที่รู้จักกันว่า “Ultra HD”
• Digital Transformation Zone – เป็นการนำชมโซลูชั่นด้านดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ Cloud Computing, Software-Defined Networking (SDN) และ Network Functions Virtualization – NFV รวมไปถึง Business Enablement Suite (BES)
• Network Transformation Zone – เปรียบเทียบคุณภาพของเน็ตเวิร์คแบบใหม่ๆ และการวิเคราะห์ Gap สำหรับการสร้างเครือข่ายคุณภาพสูง

ศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่ของหัวเว่ยได้รับการออกแบบเพื่อจัดแสดงโซลูชั่นและบริการด้านไอซีทีแก่ลูกค้าของทั้งสามกลุ่มธุรกิจของบริษัท อันได้แก่ ผู้บริโภคชาวไทย ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยห้องฝึกอบรม 5 ห้อง รองรับได้กว่า 100 คน ครบครันด้วยระบบเสียงและการถ่ายทอดภาพสดสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมไปถึงห้องปฏิบัติการระบบพื้นฐาน ระบบไร้สาย และเน็ตเวิร์คอีก 2 ห้อง ห้องรับประทานอาหาร และห้องสมุด

ศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของหัวเว่ยในกรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ได้จัดการอบรมไปแล้ว 130,000 คน/วัน ช่วยสร้างงานให้กับบุคลากรกว่า 5,000 คนของบริษัทพันธมิตรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและดิจิทัลกว่า 400 แห่ง หรือคิดเป็นเงินลงทุนสูงถึง 520 ล้านเหรียญสหรัฐ “นอกเหนือจากการลงทุนด้านสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีแล้ว นโยบายของเรายังเน้นลงทุนด้านบุคลากรด้วย” มร. ซุน กล่าวอธิบาย

“เราเชื่อว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเร่งการสื่อสารระหว่างคนและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้คนและองค์กรสามารถมองเห็นความก้าวหน้าและเติบโตมากขึ้น” เขากล่าวเสริม

“การเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคและศูนย์ฝึกอบรมอีกสองแห่งนี้ ถือเป็นการทำฝันของเราให้กลายเป็นจริง นั่นคือทำให้เราได้มีสถานที่จัดแสดงที่ครบครัน และสามารถต้อนรับและรองรับลูกค้าของเรา ทั้งผู้บริโภคทั่วไป ไปจนถึงบุคลากร นิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ด้านไอที จากผู้ใช้ไปจนถึงผู้ประกอบการหรือรัฐวิสาหกิจระดับโลก” มร. เดวิด ซุน กล่าวสรุป

###

เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำทางด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มุ่งมั่นในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการสื่อสารที่ดีทั่วโลก ด้วยการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งข้อมูล และทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรม หัวเว่ยนำเสนอโซลูชั่นด้านไอซีทีแบบครบวงจร เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ลูกค้าในกลุ่มเครือข่ายโทรคมนาคมและเอ็นเตอร์ไพรส์ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ และระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ด้วยกลยุทธ์การสร้างสรรค์นวัตกรรมตามความต้องการของลูกค้าและสัมพันธภาพที่ดีกับพันธมิตร ปัจจุบัน พนักงานกว่า 176,000 คนทั่วโลกของหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กลุ่มลูกค้าองค์กรและผู้บริโภคทั่วไป ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นไอซีทีของหัวเว่ยได้รับการติดตั้งในกว่า 170 ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก และให้บริการประชากรกว่าหนึ่งในสามของโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ยได้ที่ www.huawei.com หรือติดตามเราได้ที่
http://www.linkedin.com/company/Huawei

http://www.facebook.com/Huawei
http://www.google.com/+Huawei
http://www.youtube.com/Huawei