หัวเว่ยจับมือ UNESCO IITE และ UNESCO-ICHEI จัดสัมมนาออนไลน์แนะนำวิธีใช้โปรแกรม Learn ON สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ระดับมหาวิทยาลัย

0
219
image_pdfimage_printPrint

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้จัดการบรรยายแบบถ่ายทอดสดว่าด้วยเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นมา เพื่อมอบความช่วยเหลือให้ระบบการศึกษาทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงักลงในช่วงเวลาที่ไม่สามารถเปิดห้องเรียนได้ตามปกติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแนะนำโปรแกรม Learn ON ที่หัวเว่ยได้จัดทำขึ้นร่วมกับพันธมิตรรายสำคัญอย่าง UNESCO IITE และ UNESCO-ICHEI โดยในงาน หัวเว่ยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้นำองค์กร รวมถึงมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันวิธีการและความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด พร้อมหารือถึงวิธีการรับมือกับปัญหาเพื่อให้มั่นใจว่าการเรียนรู้ของนักเรียนจะยังคงมีคุณภาพและความต่อเนื่องในช่วงเวลาที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดลง

นักเรียนกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากที่สถาบันการศึกษาต้องปิดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าวอย่างทันท่วงที องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จึงจัดตั้งโครงการ Global Education Coalition ขึ้นมา โดยให้องค์กรระหว่างประเทศ, ภาคประชาสังคม และหน่วยงานเอกชนจากทั่วโลก มารวมตัวกันคิดค้นวิธีการเพื่อให้มั่นใจว่า “การเรียนรู้จะไม่มีวันหยุดชะงัก” ด้วยเหตุนี้ หัวเว่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมในโครงการ จึงมุ่งมั่นทุ่มเทในการที่จะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Digital Inclusion) หรือ TECH4ALL และกำหนดให้เรื่องของการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของแผนการนี้ ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกเปิดตัวโปรแกรม Learn ON เพื่อนำเอาเทคโนโลยีไอซีทีที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับกลุ่มต่างๆ ในหลากหลายพื้นที่ขณะยังเกิดวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด

Wu Lintuo ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรด้านการศึกษาประจำแผนกพัฒนาระบบนิเวศสำหรับบุคลากรที่มีความสามารถของหัวเว่ย ได้แนะนำโซลูชันครบวงจรที่จะถูกนำมาใช้ในสถาบัน Huawei Academy ทั่วโลกในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ดังต่อไปนี้:

1. กองทุน Huawei ICT Academy Development Incentive Fund (ADIF) จะมอบเงินมูลค่ารวม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับวิทยาลัยพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หลักสูตรออนไลน์, การฝึกอบรมออนไลน์ และการทดสอบออนไลน์
2. จะมีการเปิดกว้างในหลักสูตร MOOC มากกว่า 300 รายวิชา ครอบคลุมสาขาวิชาที่เป็นเทคนิคขั้นสูงอย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI), บิ๊กดาต้า, 5G และอินเทอร์เนตออฟธิงส์
3. หลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ Train the Trainer (TTT) กว่า 100 รายวิชาจะดำเนินไปต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเม.ย.-ธ.ค. โดยคาดว่าจะสามารถให้การฝึกอบรมแก่ครูผู้สอนได้มากกว่า 1,500 คน
4. มีการคาดการณ์กันว่าจะมีนักเรียนมากกว่า 50,000 คนเข้ารับการฝึกอบรมผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง, หลักสูตร และห้องเรียนออนไลน์

“เรายินดีที่ได้ทำงานร่วมกับหัวเว่ย ซึ่งเป็นสมาชิกของUNESCO COVID-19 Global Education Coalition ทั้งในการจัดสัมมนาออนไลน์ ‘Online Higher Education during COVID-19’ และในโครงการอื่นๆ ที่เราได้ดำเนินการร่วมกัน” Zhan Tao ผู้อำนวยการโครงการ UNESCO IITE กล่าว พร้อมเสริมว่า “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ UNESCO ขณะนี้ IITE กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลกในโครงการ ‘Combat COVID-19: Keep Learning Together, We Are on the Move! ‘ เพื่อร่วมแบ่งปันทรัพยากรและประสบการณ์ ตลอดจนทุ่มความพยายามในการมอบการสนับสนุนแก่นักเรียน ครู และผู้ปกครองหลายล้านคนทั่วโลกด้วยความเชื่อมั่นในนวัตกรรมและความเข้มแข็งที่เรามีร่วมกัน ภายใต้พันธกิจที่ว่า Let’s work together! Go Digital, Go Universal, Go Far!”

“ในช่วงที่เกิดวิกฤต หัวเว่ยจะมอบเงินสนับสนุน และเปิดกว้างสำหรับการใช้งานแพลตฟอร์ม รวมถึงทรัพยากรด้านการศึกษาที่มีคุณภาพสูง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน เราก็จะจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายอย่างทั้งในด้านการเรียนการสอน, การทดสอบ, ฝึกอบรม, การสื่อสาร และการพัฒนาทรัพยากร ด้วยความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบให้เกิดขึ้นกับภาคการศึกษาน้อยที่สุดผ่านการสนับสนุนของสถาบัน Huawei ICT Academy ทั่วโลก”

ในเซสชั่นแบ่งปันความคิดเห็น Ann Therese Ndong-Jatta ผู้อำนวยการ Bureau of Education in Africa ของ UNESCO, Xu Xiaofei รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาหลักสูตรและแพลตฟอร์มการศึกษานานาชาติของ MOE Expert Advisory Group of Online Education และรองประธานสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน (HIT), Liu Shubo รองคณบดีคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น, Samuel Kinuthia จากมหาวิทยาลัยซีเทค ประเทศเคนยา, Weng Kai จากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และ Zhao Jianhua ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจาก UNESCO-ICHEI ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก ได้มาร่วมพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาออนไลน์, การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมมอบคำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนและคณาจารย์ ตลอดจนการใช้งาน HUAWEI CLOUD WeLink สำหรับการสอนออนไลน์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะมีการแนะนำวิธีการสอนแบบพิเศษแล้ว เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังได้ร่วมแบ่งปันความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญและวิธีการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นด้วย

Svetlana Knyazeva ผู้เชี่ยวชาญจาก UNESCO IITE แนะนำให้มหาวิทยาลัย, บริษัท และสถาบันการศึกษาร่วมมือกันเปิดเหล่งเรียนรู้ใหม่ ๆ พร้อมผลิต และแบ่งปันหลักสูตรการเรียนรู้แบบ MOOC เพื่อมอบความช่วยเหลือด้านการศึกษาออนไลน์แก่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ

การหยุดชะงักของระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยิ่งเข้าไปซ้ำเติมช่องว่างทางการศึกษาและการเข้าถึงดิจิทัลที่มีช่วงห่างกันอยู่แล้วระหว่างประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ให้แย่ลงไปอีก เพื่อแก้ปัญหานี้ การศึกษาออนไลน์ทางไกลจึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่ถูกหยิบยกนำมาใช้ แต่การทำเช่นนั้นก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยแพลตฟอร์มการสื่อสารที่ราบรื่น และระบบการเรียนสอนที่เหมาะสม ตลอดจนบริการสนับสนุนที่รวดเร็วและสะดวกสบาย มาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ ด้วยความตระหนักในข้อนี้ หัวเว่ยจึงยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การศึกษาออนไลน์กับมหาวิทยาและองค์กรการศึกษาทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทุ่มเงินลงทุน, ยกระดับการสร้างทรัพยากรด้านดิจิทัล, และส่งเสริมการศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/minisite/tech4all/en/live-learning-never-stops.html?ic_medium=hwdc&ic_source=corp_sbanner_tech4all