1

‘หอสมุดอิเล็กทรอนิกส์เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ รร.โพธาวัฒนาเสนีย์’ ผลแห่งความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วน

thumb

— โดย สมาคมศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และครูโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีย์ —

ด้วยความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าและอาชีพต่อบรมราชวงศ์ ในการจัดโครงการสร้างอาคารหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ” ที่มีผู้ร่วมเป็นจำนวนมาก เริ่มจากสมาคมศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และครูโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีย์ โดยมีคุณวิบูลย์ คูหิรัญ เป็นนายกสมาคม ได้ประชุมมีมติให้จัดสร้างอาคารหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างมากตลอดมา ในโอกาสที่ในปี 2547 เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุ 6 รอบ (72 พรรษา) ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

ดังนั้นสมาคมฯ จึงเริ่มจัดหาที่ดินที่จะใช้สร้างอาคารนี้ ด้วยความร่วมมือของทุก ๆ คน คณะกรรมการมีคุณทรงศักดิ์ เตชอัมพร เป็นประธาน ซื้อที่ดินติดกับโรงเรียนได้จำนวน 11 ไร่เศษ เจ้าของที่ดินคือคุณเผื่อน ศิริสมบูรณ และลูก 5 คน คิดราคาเพียง 10 ไร่ ส่วนเกินนั้นร่วมสนับสนุนการก่อสร้างครั้งนี้ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับความกรุณาจาก ฯพณฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ช่วยประสานให้ทหารช่างราชบุรีเข้ามาช่วยในการปรับพื้นที่และพร้อมกันนี้ทางสมาคมฯ ก็ได้ให้ออกแบบอาคารต้นแบบที่จะใช้ประเมินค่าก่อสร้างและสมาคมยังคงช่วยกันหาทุนเพิ่มเติมที่จะใช้ในการก่อสร้าง แต่เมื่อแบบอาคารเสร็จออกมาแล้วผลประเมินราคาค่าก่อสร้างปรากฏว่าต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณที่เตรียมไว้ในครั้งนั้นไม่เพียงพอ แต่คณะกรรมการสมาคมฯ ก็ยังคงไม่ละความคิดความคิดตั้งมั่นในการที่จะดำเนินการต่อให้สำเร็จ ดังนั้นในปี 2557 คุณวิบูลย์ คูหิรัญ จึงได้อาสากลับมาเป็นนายกสมาคมฯ อีกครั้ง ร่วมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็มีความตั้งใจมั่นที่จะเร่งดำเนินการสร้างอาคารแห่งนี้ให้สำเร็จ และได้ขอพระเมตตาจากหลวงพ่ออุทัย ปภงฺกโร แห่งวัดเกาะตาพุด (วัดศรีมฤคทายวัน) เป็นประธานจัดทอดผ้าป่าเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2557 โดยมี พล.ต.ท.สุชัย สุขพันธ์โพธาราม เป็นที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส ในครั้งนั้นมีผู้ร่วมทอดผ้าป่าจำนวนมาก รายใหญ่ อาทิ มูลนิธิโรงพยาบาลโพธาราม คณะครูและนักเรียนโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีย์ และศิษย์จำนวนมากของหลวงพ่ออุทัย ทำให้ได้เงินเพียงพอที่จะดำเนินการต่อได้ โดยมี พ.ต.อ.ธนู ฮวบประเสริฐ และอาจารย์สุนีย์ อังกุรวิโรจน์ คอยช่วยประสานงาน และมีคุณลุงเยื่อ คุณป้าสนิท นุตตะโร และคุณบำรุงรัตน์ เจียมจำรัส จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คอยช่วยเหลือ ในส่วนของโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีย์นั้น รอง ผอ.กนกพร พิริยวุฒิกรอุดม รอง ผอ.โสภา ขำเจริญ และรอง ผอ.สมบูรณ์ เสียงวัฒนะ ช่วยประสาน จากนั้นจึงได้ให้นำแบบอาคารต้นแบบมาปรับปรุงจัดทำรายละเอียดให้ครบและขออนุญาตปลูกสร้างโดยมีคุณวีรพล ปริญญาทิพย์ เป็นสถาปนิก คุณปิยะรัตน์ จันทรวงศ์ เป็นวิศวกร แล้วประมูลได้บริษัทของคุณอดุล ศรีประภาพงศ์ (เคี้ยง) เป็นผู้รับจ้างในราคาต่ำเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการเทิดพระเกียรติครั้งนี้ด้วย มีอาจารย์สนั่น โม่มาลา คอยดูแลชี้จุดต่าง ๆ ของสถานที่และคอยประสานกับหน่วยต่าง ๆ ก่อนได้วางศิลาฤกษ์ โดย ฯพณฯ องคมนตรี พล.ร.อ.จุมพล ปัจจุสานนท์ กรุณาเป็นประธานเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 จากการประสารงานพิธีของคุณสำเริง บารมี ซึ่งถือเป็นมหามงคลฤกษ์แก่การก่อสร้าง จนการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จพร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคารเต็มพื้นที่ได้ 300 ตารางเมตร ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 30 กิโลวัตต์ ซึ่งจะช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมให้กับอาคารส่วนหนึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มาก ทั้งนี้ระบบโซลาร์รูฟท็อปนี้ได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คุณพรชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ที่ช่วยประสานความช่วยเหลือแผงโซลาร์เซลล์ และการติดตั้งโดย 3 บริษัทคือ 1.บริษัท บางจากโซลาร์เอ็นเนอร์ยี จำกัด 2.บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี กรุ๊ป จำกัด มีคุณวุฒิชัย แก้วคง เป็นวิศวกร ประสานงานควบคุมการดำเนินการและต่อเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ต่อเข้ามาเชื่อมต่ออินเวอร์เตอร์ กับบริษัทฯ ทางอินเตอร์เน็ตให้สามารถตรวจสอบการทำงานของระบบโซลาร์รูฟท็อปที่จอแสดงผลในห้องสมุดที่ติดตั้งไว้ตรงหน้าห้องบรรณารักษ์ทั้งสามารถดูข้อมูลสดหรือย้อนหลังได้ด้วย ความทันสมัยของหอสมุดนี้ยังสามารถค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ผ่านทางระบบเครือข่ายและระบบอินเตอร์เน็ตที่ติดตั้งไว้ด้วย และเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ในด้านแสงสว่างนั้นก็ใช้หลอดไฟแบบแอลอีดีที่ประหยัดพลังงานติดตั้งตลอดทั่วทั้งอาคาร ในส่วนของไฟฟ้าหลักที่ใช้ในอาคารและภายนอกอาคารตามโครงการนี้มาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อนุมัติให้ฟรีทั้งระบบขยายเขตไฟฟ้าแรงสูง หม้อแปลง 250 เควีเอและแรงต่ำจนถึงอาคาร จากผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คุณเสริมสกุล คล้ายแก้ว และก่อสร้างโดยรวดเร็วจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.โพธาราม จนเสร็จ ซึ่งมีระบบโซลาร์รูฟท็อปมาขนานเข้าด้วย

ในส่วนระบบสารสนเทศอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้รับการออกแบบแนะนำโดยคุณสมชาย สุระมณี ศิษย์เก่าของโรงเรียนร่วมกับอาจารย์เมกทัศน์ ศรีคงอยู่ ในการกำหนดขนาด แบบ และจุดติดตั้งอุปกรณ์ และยังมีระบบกล้องวงจรปิด ที่สามารถติดตามดูบุคคลที่เข้ามาใช้ห้องสมุดและบริเวณรอบอาคารทุกจุดอีกด้วย ทั้งนี้ยังมีอุปกรณ์มัลติมีเดียต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถดูข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ มีห้องฉายภาพยนตร์ และมีเวทีที่ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เตรียมไว้ให้อ่านหนังสือค้นคว้าต่าง ๆ และผ่อนคลายอริยาบถ รวมทั้งมีอุปกรณ์ใช้ในการเรียนการสอน ระบบสารสนเทศที่สมาคมฯ จะร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ราชบุรี จัดฝึกอบรมให้เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ได้เรียนรู้วิธีการขายของออนไลน์และระบบอีคอมเมิร์ช การค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งมีการอบรมด้านอนิเมชั่นให้กับเยาวชนและผู้ที่มีความสนใจ ทั้งนี้ในการประมูลจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดมีนายแพทย์สมบูรณ์ นันทานิช เป็นประธาน ช่วยประสานงานด้านต่าง ๆ โดยอาจารย์สุนีย์ อังกูรวิโรจน์ และอาจารย์เมกทัศน์ ศรีคงอยู่ วางรูปแบบโดยสถาปนิกคุณอิศเรส ออกเวหา มีบริษัท ที.เอส.เค. ราชบุรี เป็นผู้ชนะประมูลอุปกรณ์และติดตั้งทั้งหมด

นอกจากนี้จะมีอุปกรณ์ที่จะให้ผู้ใช้ห้องสมุดที่มีจิตอาสาจัดทำสิ่งที่จะช่วยผู้พิการทางสายตาได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจารย์บุญมี วิทยาภิรักษ์ ช่วยหาข้อมูลในการจัดซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ โดยใช้เงินบริจาคโดยตรงจากเจ้ากรมทหารช่าง พล.ท.ธนดล สุรารักษ์ และภริยาคุณสุวรรณี สุรารักษ์ ซึ่งท่านเจ้ากรมทหารช่างยังให้ทหารช่างช่วยปรับพื้นที่ ขุดสระ วางระบบท่อน้ำ ป้องกันน้ำท่วมภายในโรงเรียน ทำถนนและที่จอดรถรอบ ๆ อาคารหอสมุด และซ่อมแซมถนนของโรงเรียนที่สึกหรอชำรุดจากการก่อสร้างอาคารหอสมุด และยังบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาท เพื่อใช้จัดหาอุปกรณ์จำเป็นเพิ่มเติมและใช้ในการบริหารห้องสมุดนี้ต่อไปด้วยในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์เก่าที่กลับมาช่วยโรงเรียนให้เป็นตัวอย่างกับบุคคลอื่นที่ควรแก่การยกย่อง

เมื่อตัวอาคารหอสมุดอาคารก่อสร้างเสร็จ สมาคมฯ ได้ทำหนังสือขอพระราชทานนามอาคารหอสมุดอิเล็กทรอนิกส์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมขออนุญาตเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคารด้วย ซึ่งกองเลขานุการในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้แจ้งให้ใช้ชื่ออาคารหอสมุดอีเล็กทรอนิกส์นี้ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ” และอนุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ที่ขออนุญาตไปประดิษฐานหน้าอาคารดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อสมาคมฯ และปวงชนชาวไทยทั้งมวล

สำหรับการตกแต่งภายในห้องต่าง ๆ ของอาคารเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด สมาคมฯ ได้ขอคำปรึกษาจากหลายฝ่าย รวมทั้ง ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีประสบการณ์ในเรื่องห้องสมุดอย่างดีด้วยการประชุมร่วมกับตัวแทนนักเรียนที่รวบรวมความคิดเห็นจากนักเรียนทั้งหมด และคณะครู ทำให้ได้รับคำแนะนำที่ดีในการจัดรูปแบบต่าง ๆ โดยมีสถาปนิกเป็นผู้คอยประสานดูแลการออกแบบร่วมกับบริษัทของคุณนพพล ชูกลิ่น ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการออกแบบตู้โต๊ะต่าง ๆ ของห้องสมุดและจัดทำตู้โต๊ะรวมทั้งติดตั้งให้ฟรีให้ดูสวยงามทันสมัยตามที่ได้รับคำแนะนำไว้ ซึ่งคุณนพพลได้ประสงค์ร่วมสนับสนุนโครงการเทิดพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งม่านภายในอาคารป้องกันแสงและเสียงสะท้อนเพราะผนังส่วนใหญ่เป็นกระจก โดยได้จ้างเหมา หจก.ม่านดีบ้านสวย ของคุณประยุทธ์ ดวงจันทร์ ศิษย์เก่าของโรงเรียนในราคาย่อมเยา ส่วนการตกแต่งภายนอกอาคาร ทหารช่างได้ดำเนินการทำถนน ที่จอดรถหน้าอาคาร และมีการปลูกต้นไม้โดยบริษัท สวนนงนุช ของคุณกัมพล ตันสัจจา ที่ให้การสนับสนุน ทำให้ทิวทัศน์โดยรอบมีความสวยงาม ในส่วนของเครื่องปรับอากาศนั้น ได้ออกแบบและสอบราคา โดยได้ใช้ยี่ห้อมิตซูบิชิ เฮฟวี่ ดิวตี้ ที่ลดราคาให้เป็นพิเศษร่วมสนับสนุนโครงการจากบริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จํากัด

สำหรับการเตรียมการที่จะบริหารห้องสมุดนี้ ได้ตกลงร่วมกันกับอาจารย์จุฑามาศ เกิดแก้วฟ้า ที่จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา รวมทั้งอาจารย์ชนิกา โพธิ์กลัด อาจารย์บุษกร อ่วมเครือ และหัวหน้าภาควิชาต่าง ๆ เพื่อร่วมกับสมาคมฯ โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้อาจารย์บุญมี วิทยาภิรักษ์ และอาจารย์เมกทัศน์ ศรีคงอยู่ เป็นหลักแทนสมาคมฯ พิจารณาวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารให้ตรงตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้า และตรวจเช็คว่ายังขาดหนังสือหรืออุปกรณ์ใดบ้าง ที่จะได้สรุปให้คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ในอาคารห้องสมุดที่ยังมีห้องว่างสำหรับทำงานและห้องประชุมสมาคมฯ อยู่ด้วย

สุดท้ายพื้นที่ที่อยู่หลังอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บรมราชินีนาถ อีกประมาณ 10 ไร่ ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ได้มีมติให้จัดทำเป็นสวนพฤกษาศาสตร์และจัดสร้างจุดพักผ่อน 4 จุด ไว้ให้ผู้มาใช้บริการและมาเยี่ยมชมได้นั่งพักผ่อน โดยทางเดินจะปูด้วยอิฐตัวหนอน ซึ่งเป็นการสร้างสวนตามวาระเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา ปี 2558 ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมพื้นที่แล้ว โดยเจ้ากรมการทหารช่าง พล.ท.ธนดล สุรารักษ์ ได้มอบหมายให้ทหารช่างดำเนินการ พร้อมที่จะปลูกต้นไม้ โดยกรรมการและผู้สนับสนุนสมาคมฯ ต่อไป เพื่อถวายความจงรักภักดีด้วย ซึ่งนอกเหนือจากผู้ที่จะนำต้นไม้มาปลูกเพียงอย่างเดียวแล้วก็ยังจะมีการบริจาคเงินสมทบเพื่อใช้เป็นทุนในการดูแลต้นไม้แล้วสวนแห่งนี้ด้วย

การทำงานเพื่อแสดงความจงรักภักดี เทิดพระเกียรติตามโครงการจัดสร้างอาคารหอสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ และสวนพฤกษศาสตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้โดยรวมมีอาจารย์นฤมลนาคทอง อาจารย์เบญจา ขุนนคร อาจารย์สุนีย์ อังกุรวิโรจน์ เป็นผู้คอยประสานงานให้ระหว่างคณะกรรมการสมาคมฯ กับผู้รับจ้าง มีคุณนาคิน จันเกษม คุณกฤษ์ สุวรรณโสภา รอง ผอ.สมบูรณ์ เสียงวัฒนะ คอยติดตามงานให้คำแนะนำและชี้แนะการแก้ไข คุณชำนาญ มะลิสุวรรณ คุณถม นวมมานะ คุณเอกชัย เอกหาญกมล คุณสวัส ธนวัฒนากุล จ.ส.อ.สมชาย เพ็งเจริญ พ.ต.อ.ไพจิตร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.สุชาติ อำมฤคขจร และ ผอ.สัมพันธ์ บุญวานิช ช่วยชี้แนะท้วงติงต่าง ๆ รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้ นอกจากนี้ที่จะลืมไม่ได้เลยคือคณะกรรมการสมาคมฯ ตลอดจนที่ปรึกษาทุกท่านที่มีส่วนอย่างมากตั้งแต่ขั้นตอนการอนุมัติโครงการ การจัดหาเงิน ทั้งซื้อที่ดิน และการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผ่านมา จนโครงการได้ลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์.