“หรือความรัก จะเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายลูก”

0
408
image_pdfimage_printPrint

ความรักของพ่อแม่ในบางครั้งก็เป็น “ดาบสองคมที่พ่อแม่ใช้ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว” เมื่อการดูแลเสมือนไข่ในหิน และกระบวนการเลี้ยงดู ประคับประคอง อบรมสั่งสอนลูก ได้กลับกลายเป็นการสร้างกรอบจำกัดความคิดและเส้นทางดำเนินชีวิตของเด็กที่กำลังเติบโต ครูพี่แนน อริสรา ธนาปกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ เชิญชวนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองฉุกคิด ว่าเรากำลังใช้ความรักทำร้ายลูกกันอยู่รึเปล่า?

“พ่อ/แม่ เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้หนูแล้ว” เป็นคำที่ดูสวยหรูแฝงไปด้วยความหวังดีอย่างเต็มเปี่ยม แต่ครูพี่แนนบอกกับเราว่า หลายครั้งที่คำพูดและความหวังดีที่พ่อแม่หยิบยื่น กลับกลายเป็นการบังคับลูกไม่ให้เลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะในบางครั้งพ่อแม่เองก็ละเลย และลืมคิดไปว่าลูกก็ต้องมีสิ่งที่ต้องการในใจเช่นเดียวกันกับพ่อแม่ที่ต้องการให้เค้ามีอนาคตที่ดี ดังนั้นการหยิบยื่นความหวังดีนี้ จึงเหมือนการกำหนดทิศทางการใช้ชีวิตของลูกให้มีแค่ทางเดียว เมื่อเทียบจากประสบการณ์ของครูพี่แนนที่ได้รับอิสระในการเลือกสิ่งที่ชอบ จึงพบว่า ยิ่งได้รับแรงสนับสนุนจากพ่อแม่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งเสริมพลังด้านบวกให้พัฒนาตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

ปิดกั้นการฝึกใช้ชีวิตกับโลกภายนอก อีกหนึ่งความหวังดีที่อาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว เมื่อพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบมดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ให้อยู่แต่ใน Comfort Zone เด็กก็จะเติบโตมาแบบไม่ได้ใช้ชีวิตกับสิ่งที่เค้าควรได้เผชิญ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นก็เหมือนกับบทเรียนชีวิตที่เค้าควรได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ในตัวเอง เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้เท่าทันคน และรู้จักปรับตัวไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม

เอาเด็กคนอื่นมาเปรียบเทียบเพื่อผลักดันลูก วิธีนี้อาจไม่ได้สร้างแรงผลักดัน แต่อาจสร้าง “ความกดดัน” และบาดแผลที่น่าเจ็บปวดให้กับลูก เพราะถือเป็นการเหยียบให้ลูกจมกับความรู้สึกผิด รู้สึกกดดันกับสถานการณ์ต่างๆมากกว่าเดิม และเมื่อมีข้อเปรียบเทียบเด็กก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กลง ความสามารถที่มีอยู่ด้อยค่าในเมื่อขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังมองข้ามไป

โอ๋ลูก/ไม่ปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาเอง หลายครั้งที่ครูพี่แนนได้เห็น พ่อแม่ที่โอ๋ลูกมากๆเมื่อเขาพบกับปัญหา บางกรณีถึงขั้นโทษทุกอย่างยกเว้นลูกตัวเอง ซึ่งการกระทำแบบนี้ถือเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีกระบวนความคิดแบบ “โลกต้องหมุนรอบฉัน” ซึ่งส่งผลเสียกับอนาคตของเด็กแน่นอนเมื่อถึงวันหนึ่งที่เขาต้องก้าวออกไปเผชิญหน้าสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง

ดูถูกความฝัน ในยุคสมัยที่มีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เด็กหลายคนมีความฝันที่สวนทางกับความต้องการของพ่อแม่ เมื่อสิ่งที่มั่นคงในความคิดของพ่อแม่กลับไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ พ่อแม่บางคนจึงประเมินค่าความฝันเหล่านั้นว่าเป็นอะไรที่ไม่มั่นคง เป็นเรื่องเพ้อฝันของเด็กที่ยังไม่เข้าใจโลก จึงเท่ากับว่าเป็นการดูถูกสิ่งที่ลูกรักโดยไม่รู้ตัว

ในฐานะครู ผู้มีหน้าที่ส่งเด็กให้ถึงฝัน ครูพี่แนนจึงพูดกับลูกศิษย์เสมอว่า “Dare to dream and be responsible for it! Make your dream come true! กล้าที่จะฝัน ต้องกล้าที่จะรับผิดชอบต่อความฝัน แล้วจุดความฝันขึ้นบนความจริง!” เมื่อมีเป้าหมาย และกล้าที่จะรับผิดชอบ ความสำเร็จนั้นย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม!

ปัจจัยสำคัญที่ครูพี่แนนกล่าวถึงก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนเป็นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นหลายข้อ แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จากนี้ลองเปลี่ยนจากการประคับประคองลูกให้อยู่ในกรอบเป็นการเฝ้ามองลูกเติบโตตามเส้นทางที่เขาเลือก หากลูกเติบโตผิดทิศทาง หรือผิดหวังจากสิ่งที่เลือก สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการไม่ซ้ำเติม แต่โอบอุ้มเค้าด้วยความรัก ให้เค้าได้เริ่มใหม่อีกครั้งอย่างแข็งแรง