หยุด “โรคปอดบวม” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

0
427
image_pdfimage_printPrint

หยุด “โรคปอดบวม” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

วันที่ 12 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันปอดบวมโลก หรือ World Pneumonia Day เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคปอดบวม ซึ่งป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงและคร่าชีวิตผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก โดยโรคปอดบวมจะพบมากในเด็กที่มีอายุ 5 ขวบปีแรก และผู้สูงวัย ซึ่งบางครั้งโรคอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการป้องกันและวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคปอดบวมซึ่งเป็นเรื่องที่สังคม และครอบครัวควรให้ความสำคัญ และสร้างความตระหนัก เพื่อการรับมือกับโรคปอดบวมอย่างถูกวิธี

ในปี 2560 นี้ ทางโครงการจุฬาคิดส์คลับในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมให้กับเด็ก ครอบครัว และผู้ปฏิบัติงานกับเด็ก รวมถึงให้บริการด้านคำปรึกษาด้านสุขภาพและการเลี้ยงดูเด็กและครอบครัว จัดงาน “World Pneumonia Day” หรือ งานวันโรคปอดบวมโลก ภายใต้แนวความคิด “Let’s Stop Pneumonia” ร่วมกันหยุดโรคปอดบวม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคปอดบวม พร้อมแนวทางการปฏิบัติ และการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคปอดบวมด้วยความห่วงใยในสุขภาพของคนไทย โดยภายในงานได้เปิด “ตลาดนัดสุขภาพ” กิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพเด็กและครอบครัวที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำพร้อมพบการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปอดบวม ภัยร้ายใกล้ตัว” โดยมี รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมให้ความรู้กับผู้ร่วมงาน

โรคปอดบวมคืออะไร
“โรคปอดบวม” หรือปอดอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เรียกได้ว่าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อของปอด เกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมคือ เชื้อนิวโมคอคคัส ส่วนเชื้อไวรัสที่สำคัญคือ เชื้อไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยปอดบวมจะมีอาการไข้ ไอ และหอบเหนื่อย บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็กซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วยปอดบวมประมาณสองแสนราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.41

อาการของโรคปอดบวมและการรักษา
“อาการของผู้ป่วยปอดบวม” คืออาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ และเจ็บแน่นหน้าอกแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจากอาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วย เอกซเรย์ปอด และการตรวจเสมหะ โดยการรักษาโรคปอดบวมนั้นประกอบด้วย การให้ยาปฏิชีวนะ (โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย) หรือยาต้านไวรัส (โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่) การให้ออกซิเจน และการให้สารน้ำทางหลอดเลือด”

วิธีการป้องกันโรคปอดปวม
การป้องกันโรคปอดบวมทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่คนแออัด อย่างห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาล คนที่ป่วยเป็นไข้หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ควรปิดปากเวลาไอจาม รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่สำคัญควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน”

# # #

เอกสารอ้างอิง
1. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข