หม่อมเต่า นัดสถานประกอบกิจการ ถกผลกระทบโควิด ร่วมหารือแนวทางแก้ไข

0
416
image_pdfimage_printPrint

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นัดสถานประกอบกิจการ 30 แห่งร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพบว่าขณะนี้สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ยังคงรับมือได้ ยอมรับมีปรับลดค่าจ้างแต่ยังจ่ายเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ห่วงหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ยอดคำสั่งซื้อไม่กระเตื้องอาจแบกรับไม่ไหว วอนภาครัฐช่วยในบางเรื่อง
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเชิญนายจ้าง ผู้แทนสถานประกอบกิจการมาร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ เพื่อต้องการรับทราบข้อมูลปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาของภาคส่วนแรงงาน และจะได้หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งผลจากการพูดคุยพบว่า ขณะนี้สถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ยังคงรับมือได้ ยอมรับมีปรับลดค่าจ้างแต่ยังจ่ายมากกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (มากกว่าร้อยละ 75) แต่ยังคงเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ยอดคำสั่งซื้อลดลงอาจแบกรับไม่ไหว และอาจจะต้องหารือร่วมกับลูกจ้างอีกครั้ง จึงขอให้กระทรวงแรงงานดูแลในเรื่อง การลดเงินสมทบประกันสังคมลง การขยายเวลาการจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างร้อยละ 62 ต่อไปอีกถึงสิ้นปี การปรับลดอัตราลูกจ้างที่ต้องเข้าฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน และการปรับข้อกำหนดในการอบรม เช่น การใช้ระบบออนไลน์ และในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขอให้ผ่อนปรน การบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์แทน และให้กำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของสถานประกอบกิจการ ส่วนกระทรวงแรงงานจะได้รวบรวมประเด็นปัญหาทั้งหมดมาสรุปเป็นแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาต่อไป
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์สถานประกอบกิจการสามารถดำเนินการได้โดยใช้ระบบทวิภาคีในการเจรจาพูดคุยกับลูกจ้างด้วยหลักสุจริตใจ เพื่อยืดหยุ่นสภาพการจ้าง ปรับ-ลดสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตามก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ ขอให้นายจ้างลูกจ้างเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ให้สถานประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้ และลูกจ้างยังมีงานทำสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ เพื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน