“หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว” วช. เตรียมโชว์สุดยอดงานวิจัยเพื่อคนไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559
ก้าวสู่ปีที่ 11 สำหรับงานใหญ่ประจำปีที่ทุกคนรอคอยเพื่ออัพเดทผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ จากนักวิจัยไทย ซึ่งปีนี้ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2559” หรือThailand Research Expo 2016 โดย สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” (Research for Development Country Toward Stability, Prosperity and Sustainability) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ปีนี้ขนทัพงานวิจัยในระบบทั่วประเทศนับพันผลงานจาก 9 กลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาจัดแสดงระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการ วช. กล่าวถึงงานวิจัยว่า “การวิจัยถือเป็นกุญแจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้น และจำเป็นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยนำมาซึ่งความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและการแข่งขันได้ของประเทศ ของชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา อาจจะมองว่างานวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน เพราะงานวิจัยที่นักวิจัยผลิตออกมานั้นล้วนมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อคนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติก็สามารถพัฒนาไปได้ ในแง่ของเศรษฐกิจผลงานวิจัยก็ก่อให้เกิดนวัตกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชาติ ทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าได้มาชมงานนี้แล้วท่านจะรู้ว่า งานวิจัย สร้างสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” เลขาธิการ วช. กล่าว
โดยในปีนี้มีงานวิจัยที่มีความโดดเด่น นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก เป็นจำนวนมากอาทิ ผลงานวิจัย ข้าวจ้าวพันธุ์ “ทับทิมชุมแพ”(กข69) ผลงานของ นายรณชัย ช่างศรี นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่สร้างข้าวจ้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ตลอดทั้งปี โดยนำข้าว 2 สายพันธุ์มาผสมกัน คือข้าวจ้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยดของพัทลุง จนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า ทับทิมชุมแพ มีลักษณะเด่น เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลิตสูง ประมาณ 970 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อนำไปหุงสุกจะมีสีแดงดุจทับทิม มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ นอกจากนี้เมื่อหุงสุกจะมีความเหนียว สามารถนำไปแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ ได้ เช่นข้าวปั้นญี่ปุ่นหน้าต่างๆ ข้าวเกรียบ ข้าวพองกรอบ
นางสาวณัฐพร สนเผือก มหาวิทยาลัยราชัฎราชนครินทร์ ตัวแทนคณะผู้ทำวิจัย การสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้เพื่อผ้าบาติก ประสบความสำเร็จในการค้นหาสีธรรมชาติทดแทนสีสังเคราะห์นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สีน้ำเงินอ่อนจากดอกอัญชัน สีน้ำตาลเข้มจากหมาก และสีชมพูจากดอกหางนกยูง ได้สีสันสดใสใกล้เคียงกับสีสังเคราะห์ไร้สารเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและได้สีที่มีราคาถูก และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้จัดอยู่ในกลุ่มงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม การศึกษา
“ ยามศึกเรารบ ยามสงบ เราวิจัย ” ไม่เป็นคำกล่าวอ้างเกินจริงเมื่อปีนี้มีงานวิจัยสุด “ ปัง ” จาก แผนกวิจัยและตรวจทดลอง กองวิทยาการ กรมพลาธิการทหารอากาศ นำโดย นาวาอากาศโทชูพงศ์ ไชยหลาก หัวหน้าแผนกวิจัยและตรวจทดลอง คิดค้น ถุงเท้าป้องกันเชื้อราและไมโครแคปซูลกลิ่นหอม มาโชว์ เพื่อแก้ไขปัญหาของกำลังพลในที่ประสบปัญหา เชื้อรา โรคผิวหนังที่เท้า อันเนื่องมาจากความอับชื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนถุงเท้าเป็นระยะเวลาหลายวันขณะปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม โดยคิดค้นนำถุงเท้าไปเคลือบซิงค์ออกไซด์ช่วยยับยั้งการเกิดแบคทีเรียและเชื้อรา และลดกลิ่นอับชื้นด้วยไมโครแคปซูลที่มีกลิ่นหอม ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถเพิ่มเข้าไปได้กระบวนการทอผ้า หรือใช้กับถุงเท้าสำเร็จรูปได้เลย ซึ่งถุงเท้าที่เคลือบซิงค์ออกไซด์และไมโครแคปซูลหอมนี้ ทำให้สามารถใส่ถุงเท้าคู่เดิมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนนานถึง 3 วัน นอจากนี้ยังมีการนำสาร นาโนซิลิกอนไดออกไซด์ ช่วยลดความหมองคล้ำของดิ้นและทองชุบบนเครื่องหมายอินทรธนู และเครื่องหมายแสดงความสามารถให้ความสวยงามเหมือนใหม่เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีพาเหรดงานวิจัยที่น่าสนใจอีกมากมายอาทิ แฮมเบอเกอร์-แซนวิช –ไส้อั่ว ใส้แมงสะดิ้ง(จิ้งหรีดขาว) โดย นายดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ที่ทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนในการลดรายจ่ายครัวเรือน นวัตกรรมการออกแบบภาชนะบนโต๊ะอาหาร ของ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำทะลายปาล์มน้ำมันที่เหลือทิ้งปีละกว่า 4 ล้านตันมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกก ของวิกรม วงษ์สุวรรณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ “ เท ” วิธีนำกก มาทอเป็นเสื่อ เปลี่ยนมาเป็นเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน สำนักงานได้อย่างมีสไตล์ ผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆของ มะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผศ.อุมาพร อุประ ในหลากรูปแบบอาทิ บรั่นดี ไวน์ น้ำส้มสายชู สมุนไพรเครื่องแกงไทยอบครบรสครบกลิ่นในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุง โดย ผศ.ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น
นี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวจากงานวิจัยนับพันผลงาน ที่พร้อมจะเฉิดฉายอวด “ออร่า” อย่างพร้อมเพรียงกันใน งาน “ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ2559 หรือ Thailand Research Expo 2016” ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม ศกนี้ ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
งานนี้ ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักวิจัยในแวดวงวิชาการ หากแต่งานวิจัยทุกวันนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน ที่ใครมาชมแล้วจะฉกฉวยโอกาสนั้นมาสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองได้อย่างไร เพราะงานวิจัยในพ.ศ.นี้ต่างมุ่งเป้าที่นำไปใช้ต่อได้จริง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า งานวิจัยในวันนี้ เป็นงานวิจัยที่ ลงจากหิ้ง สู่ห้าง เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง ทุกแนวทางที่นักวิจัยสร้างสรรค์ อาจเป็นเส้นทางนำทุกท่านก้าวสู่โลกแห่งธุรกิจพิชิตเงินล้านได้ง่ายๆ นักวิจัยพร้อมพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชน อยู่ที่คนอย่างเราๆท่านๆเท่านั้น ที่จะสละเวลามาค้นหาโอกาสทองให้กับตัวเองหรือไม่ … สืบค้นข้อมูลก่อนชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th