สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) โดย นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับฝุ่นละออง PM 2.5 ร่วมกับนักวิชาการจากองค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา และองค์กรภาครัฐ อาทิ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ ถึงแนวทางแก้ไขมลพิษทางอากาศซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ประชาชนต้องใช้ mask ปิดจมูกป้องกันฝุ่นละอองในอากาศเมื่อต้องออกจากบ้าน ซึ่งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ก็มีการรายงานถึงสถานการณ์ที่เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงมีการรับมือที่ถูกต้อง ซึ่งเอกสารสรุปการประชุมในครั้งนี้จะถูกเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
จากการประชุมเพื่อหารือร่วมกัน มีข้อสรุปถึงการสาเหตุและการแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ลำดับแรกโดยการให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งหลายคนทราบกันดีแล้วว่า PM 2.5 เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเลือดของเคนเราล็กที่สุดจะมีขนาด 5-6 ไมครอน เรียกได้ว่าขนาดของฝุ่นนี้เล็กกว่าหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งเส้นเลือดฝอยของคนเรา ทำให้การที่เราหายใจเข้าไปอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สาเหตุหลักนั้นมากจากหลายปัจจัย อาทิ การก่อสร้าง โรงผลิตไฟฟ้า การเผาขยะ แต่แหล่งกำเนิดกว่า 50 % มาจากควันเสียของเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์มากที่สุด คือ รถประจำทาง รถบรรทุก รองลงมา คือ รถยนต์เครื่องเบนซินที่ปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์ ช่วงระหว่างจอดติดเครื่องขณะรถติด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพร้อมทั้งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชี้แจงว่า “ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมาตรการห้ามให้รถบรรทุกที่ขนอุปกรณ์การก่อสร้างเข้ามาเขตพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และได้มีการกวดขันการตรวจจับควันดำรวมถึง เน้นเรื่องการซ่อมบำรุงรถขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแผนการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตขึ้นแล้ว”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นพกร จงวิศาล อดีตอาจารย์และนักวิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า “ควรมีการให้ความเข้าใจกับประชาชนในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็อย่าได้ตระหนกจนเกินไป เนื่องจากฝุ่นละออง PM 2.5 นี้อยู่รอบๆ ตัวมาตลอด เพียงแค่ในช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้กระทบต่อสุขภาพของคนในระยะสั้นอย่างชัดเจน จึงขอให้ทุกคนระวังรักษาสุขภาพ หันมาออกกำลังกาย ออกไปฟอกปอดตามพื้นที่ชนบทที่มีอากาศบริสุทธ์บ้าง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าเรามีสุขภาพที่แข็งแรงก็จะต่อสู้กับโรคภัยได้เยอะขึ้น” ทั้งนี้ยังมีผู้แทนจากภาคสถาบันการศึกษา คือ ผศ.ดร.ทรงเกียรติ เที้ยทิทรัพย์ อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวยอมรับบว่า “ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องยนต์เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ หรือมีเครื่องตรวจจับควันดำที่ได้มาตรฐานการรับรองที่ดีเยี่ยมมาการันตีผลการตรวจวัดที่ถูกต้องได้ แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาให้อาจารย์หรือบุคคลากรแต่ละคณะวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือแม้กระทั่งมัณฑนากร ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ และร่วมมือกันหาแนวทางของการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ โดยปัจจุบันนักศึกษาเองก็ให้ความสำคัญและสนใจตัวโครงการ หรือการประกวดแบบเทคโนโลยีด้านนี้กันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเราในอนาคตอย่างแน่นอน” ซึ่งนางสาวพิชญาพร เดชสกุล ผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แจ้งมาตรการแผนการควบคุมมลพิษในส่วนของภาครัฐ 3 ระดับดังนี้ แผนขั้นต้น คือการให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในภาคประชาชน แผนระยะกลาง คือ การเร่งรัดการใช้น้ำมันแบบใหม่ซึ่งทางภาครัฐจะส่งเสริม B20 นโยบายห้ามเผาในที่โล่งแจ้งที่เข้มงวดมากขึ้น นโยบายการปล่อยควันในโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้มงวด นโยบายขนส่งที่เข้มงวดรวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันยูโร 5 แผนระยะยาว คือ การปรับปรุงผังเมือง พื้นที่สีเขียว เรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก รวมทั้งมาตรการส่งเสริมทางเศรษฐกิจในเรื่องของการนำเข้ารถไฟฟ้า โดยมาตรการต่างๆ ที่เสนอนั้นอาจทำให้เกิดการเสียประโยชน์แก่ผู้ประกอบการขึ้นดังนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางแก้ปัญหาและร่วมกันผลักดันอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติม : เตชินี แก้วดวงงาม (กบ. 061-991-6154), วรินทร พรวีรภัส โทร. 0-2391-3320