สเต็มเซลล์…อวัยวะสำรอง เพื่อสุขภาพลูกน้อย การลงทุนระยะยาว ที่พ่อแม่ยุคใหม่ อยากเก็บ…แต่ไม่อยากใช้

0
794
image_pdfimage_printPrint

เพราะลูก คือ “ของขวัญ” สำคัญที่สุดในชีวิตของพ่อแม่ ทุกครอบครัวล้วนหวังให้ลูกน้อยที่เกิดมา มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคร้าย ดังนั้นพ่อแม่ยุคปัจจุบัน จึงพยายามมองหาสิ่งใหม่ๆ มาดูแลลูกน้อย โดยเฉพาะทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาวของลูก ยิ่งระยะหลังมาจะได้ยินแต่ข่าวเด็กวัยเพียงไม่กี่ปีมักเจอกับโรคร้ายไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือแม้แต่โรคธาลัสซีเมีย “การเก็บสเต็มเซลล์” จึงเริ่มเป็นกระแสกลับมาอีกครั้งว่าสามารถเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่พ่อแม่ในปัจจุบันให้ความสำคัญมาก โดยตัวเลขแต่ละปี พบว่าพ่อแม่ตัดสินใจเก็บ สเต็มเซลล์ไว้เป็นอวัยวะสำรองให้แก่ลูกน้อย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นปีละหลายหมื่นราย
แพทย์หญิงวรัชยา ฟองศรัณย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการเก็บสเต็มเซลล์มาก ทำให้จำนวนผู้เก็บสเต็มเซลล์จากเลือดในรกเพิ่มขึ้นทุกปี “การเก็บสเต็มเซลล์” เปรียบเสมือนการเก็บอวัยวะสำรองให้กับลูก ซึ่งจากการพิสูจน์ทางการแพทย์ สเต็มเซลล์ที่เก็บในสภาวะที่เหมาะสมจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปี แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันก้าวล้ำไปมาก เชื่อได้ว่าสเต็มเซลล์สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต
ตัวอย่างโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่พบบ่อยในไทย 1.โรคธาลัสซีเมีย เด็กที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย เมื่อได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะสามารถหายขาดได้ ซึ่งในปัจจุบันพบกว่าคนไทยป่วยเป็นโรคธาลัศซีเมียชนิดรุนแรงมากประมาณ 98,000 คน และชนิดรุนแรงปานกลางประมาณ336,000 คน 2.โรคไขกระดูกฝ่อ โรคนี้เป็นโรคที่พบไม่บ่อย คนไข้ส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักไม่ทราบสาเหตุ บางรายเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น parvovirus B19 Epstein-Barr virus การสัมผัสสารเคมีหรือทานยาบางชนิด เช่น สารระเหย chloramphenicol ซัลฟา ฯลฯ หรือการรับรังสีขนาดสูง ทำให้ไขกระดูกไม่ทำงาน ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ซึ่งถ้าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการเก็บสเต็มเซลล์ไว้ก่อน ก็จะสามารถนำสเต็มเซลล์ตนเองมารักษาโรคได้ 3.โรคมะเร็ง พบว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จในการรักษามากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
แพทย์หญิงวรัชยา กล่าวว่า การเก็บสเต็มเซลล์เพื่อใช้ในการรักษาเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นอกจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แล้ว หลายประเทศทำการวิจัยรักษาโรคอื่นๆด้วยสเต็มเซลล์ เช่น สหรัฐอเมริกาทำการวิจัยเพื่อรักษาเด็กที่มีอาการทางสมองโดยใช้สเต็มเซลล์จากเลือดในรกของตนเอง อาทิ ภาวะสมองขาดออกซิเจนในสมองระยะแรกคลอด(Hypoxic ischemic encephalopathy) โรคซีพี(Cerebral palsy) การบาดเจ็บทางสมอง(Traumatic brain injury) ออทิสติก (Autistic) ซึ่งผลการวิจัยบางโรคได้ผลเป็นที่น่าพอใจมากส่วนบางโรคยังอยู่ในระหว่างการติดตามผลการรักษา คาดว่าในอนาคตสเต็มเซลล์จะมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มนี้ดีขึ้น
สำหรับการเก็บสเต็มเซลล์หลักๆ มี 2 แบบ คือ 1.การเก็บจากเลือดในรกของทารกแรกเกิด โดยข้อดีของการเก็บสเต็มเซลล์วิธีนี้ จะเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่เจ็บ สเต็มเซลล์ที่ได้จะเป็นเซลล์มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง ความเสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดเชื้อต่ำ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส นอกจากสเต็มเซลล์จะสามารถเข้ากับตัวเองแล้ว โอกาสที่จะเข้ากับสมาชิกในครอบครัวจะสูงกว่าสเต็มเซลล์แบบอื่น และ 2.การเก็บสเต็มเซลล์จากกระแสโลหิต ซึ่งวิธีนี้จะใช้กับผู้ใหญ่ ข้อดีคือสามารถเก็บสเต็มเซลล์ได้จำนวนมาก สเต็มเซลล์ที่ได้จะแข็งแรง สามารถทำการปลูกถ่ายติดเร็ว แต่มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ปัญหาด้านสุขภาพของผู้เก็บ ส่วนการเก็บสเต็มเซลล์โดยการเจาะไขกระดูกโดยตรง เป็นวิธีที่ไม่นิยม เนื่องจากเสียเลือดมาก ต้องทำในห้องผ่าตัดจะทำเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเก็บสเต็มเซลล์จาก 2 วิธีข้างต้นได้
ทางด้าน คุณแม่เปิ้ล-ชัชชฎา ก้องธรนินทร์ เซเลบริตี้ชื่อดัง กล่าวว่า การเก็บสเต็มเซลล์ คือ การลงทุนด้านสุขภาพระยะยาวให้กับลูก เราไม่สามารถมองเห็นอนาคตในวันข้างหน้าได้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเรา เราในฐานะพ่อแม่ควรตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ซึ่งเราเก็บไว้ เราก็ไม่ได้อยากนำสเต็มเซลล์ที่เก็บไว้มาใช้ เพียงแต่เก็บไว้ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาสุขภาพของลูก เพราะลูกคือของขวัญที่สำคัญ และงดงามที่สุดในชีวิตของเรา การที่เราจะมีลูกหนึ่งคน ไม่ใช่แค่มีแล้วจะเลี้ยงเขายังไงก็ได้ แต่เราต้องวางแผนอนาคตให้ลูกในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพตามคำกล่าวที่ว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”
นางชัชชฎา เล่าต่อว่า ตนเป็นคนมีลูกยาก แต่งงานแล้วก็อยากมีลูกมาก จึงไปปรึกษาคุณหมอ จนตั้งครรภ์ลูกชาย คือ น้องริว คุณาพันธุ์ ก้องธรนินทร์ ซึ่งตอนตั้งครรภ์ก็อายุมากแล้ว เราก็มีความกังวลต่างๆ นานา ว่าลูกที่เกิดมาจะสมบูรณ์หรือไม่ เพราะเราจะเห็นตัวอย่างจากหลายๆ ครอบครัว ที่ลูกเกิดมาแล้วเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา อาทิ โรคธาลัสซีเมีย บวกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโรคเกิดขึ้นใหม่เยอะมาก เราจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถป้องกันลูกจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งเราก็ได้รู้ว่า การเก็บสเต็มเซลล์ คือตัวช่วยสำคัญที่จะสามารถช่วยลูกเราได้ หากลูกเราเจ็บป่วยในโรคที่ร้ายแรง แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การเก็บสเต็มเซลล์ ถือเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ใหม่มาก เราไม่มีความรู้ว่าเก็บไปแล้วจะได้ใช้หรือไม่ และผลในการรักษาจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่เราคิดว่า “การเก็บสเต็มเซลล์” คือ การลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าเทียบกับสิ่งที่ลูกจะได้รับในอนาคต จึงได้ตัดสินใจเก็บสเต็มเซลล์ของลูกไว้ ซึ่งเราก็เล่าให้ลูกฟังว่า เราเลือกวิธีนี้เพราะอะไร ลูกก็เข้าใจ บางครั้งเขาก็บอกเราว่า ผมไม่ได้ใช้ ถ้าคุณแม่ป่วยก็เอาสเต็มเซลล์ของผมไปใช้ก็ได้ คุณแม่จะได้แข็งแรง
# # #

Reference
1. แนวทางการวินิจฉัยและการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย Clinical practice guidelines for diagnosis and management of thalassemia syndromes สถาบันสุขภาพแห่งชาติมหาราชินี 2557
2. แนวทางการรักษาโรคไขกระดูกฝ่อ Guideline for diagnosis and management of aplastic anemia สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย 2011
3. Jessica M Sun, Joanne Kurtzberg. Cord blood for brain injury. Cytotherapy, 2015;17:775-785.
4. C. Michael Cotton, Amy P. Murtha, Ronald N. Goldberg, et.al. Feasibility of Autologous Cord Blood Cells for Infants with Hypoxic-Ischemic Encephalopathy. J Pediatr 2014 May; 164(5):973-979.e1.