สุวิทย์ เมษินทรีย์ ลงพื้นที่นครราชสีมาและยโสธร ติดตาม กทบ.และงานพัฒนาเศรษฐกิจ

0
399
image_pdfimage_printPrint

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางมาตรวจราชการและเยี่ยมเยียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและยโสธรเมื่อวันที่ 9 -10 สค.2560 ตอกย้ำการขับเคลื่อนบทบาทของนครราชสีมที่มีต่อการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในฐานะประตูเศรษฐกิจและศูนย์กลางคมนาคมของอีสาน พัฒนาความเจริญเติบโตเศรษฐกิจเมืองใหญ่เชื่อมต่อโลก และเศรษฐกิจฐานรากอีสาน ผนึกกำลังประชารัฐ มหาวิทยาลัย สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สตาร์ทอัพ ขับเคลื่อน SME ภาคอีสานด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมความก้าวหน้า ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) พร้อมทั้งเยี่ยมเยียนช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.ยโสธร

จากการประชุมพบปะผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ซึ่งเป็นกลไกเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 80 คน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจาก 20 จังหวัด และระดับอำเภอจำนวน 32 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งทีมงานจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมหารือข้อคิดเห็นในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ มุ่งพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ก้าวไกลใน 4 ด้าน ได้แก่ กฏหมาย การเงิน ไอที และความรู้ด้านธุรกิจ รองรับการพัฒนาไปด้วยกัน สู่ไทยแลนด์ 4.0

ในงานแสดงนิทรรศงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีฯ ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “นครราชสีมา กับการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ” นครราชสีมามีศักยภาพโดดเด่น เป็น ประตูเศรษฐกิจแห่งอีสาน มีประชากร 2.6 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพ จีดีพีสูงเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน เป็นศูนย์กลางคมนาคมและฐานเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็คคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมไทยและเชื่อมโลกในอนาคต เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน พาณิชยกรรมและโครงการใหม่ๆมาสู่เมืองและภูมิภาคอีสาน นครราชสีมามีพื้นฐานแหล่งผลิตเกษตรและการค้าเกษตรที่แข็งแกร่งมายาวนาน สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมอื่นๆตามมา อาทิ แปรรูปอาหาร มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ 3 โรง โรงงานแป้งกว่า 23 โรง และยังเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อีกด้วย ในห้วงระยะเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี มีหลายโครงการเมกะโปรเจ็คด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในนครราชสีมา อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คาดว่าจะลงมือก่อสร้างก่อนปลายปี 2560 นี้ และจะแล้วเสร็จปี 2568, โครงการรถไฟทางคู่เริ่มสร้างแล้ว กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563, โครงการถนนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564, ส่วนโครงการขนส่งระบบรางขนาดเบา LRT (Light Rail Transit) ในเขตเมือง 3 เส้นทาง เพื่อแก้ปัญหาจราจรและจะเพิ่มศักยภาพของการพัฒนาเมืองในอนาคตอีกด้วย รวมทั้งจำนวนประชากร 2.6 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นดึงดูดให้มีการลงทุน พาณิชยกรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งการเติบโตของภาคบริการโรงแรม การประชุมสัมมนาและการท่องเที่ยว ด้านแรงงานแต่เดิม 80% เป็นแรงงานในภาคการเกษตร ปัจจุบันหันมาทำงานภาคบริการมากขึ้น มีการขยายตัวของ Solar Farm โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ

ความร่วมมือของประชารัฐจึงเป็นพลังสำคัญยิ่งในการที่จะขับเคลื่อนพัฒนาอนาคตของนครราชสีมาและภูมิภาคอีสาน ให้เชื่อมต่อเมืองอื่นๆ ตลาดโลก และเศรษฐกิจฐานราก สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อน SME ภาคอีสานด้วยนวัตกรรม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จาก Young Entrepreneurs Club – YEC/ BizClub ผู้บริหาร คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ร่วมกันระดมข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รัฐมนตรีฯ และคณะได้เดินทางไปเยี่ยม สถาบันการเงินชุมชนบ้านมะเกลือใหม่ หมู่ที่ 1 ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงบทบาทในการเป็นธนาคารของประชาชน การส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาชุมชนเมือง ตลอดจนการดำเนินตามโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจตามแนวทางประชารัฐ ขณะเดียวกันสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ก็ได้รับประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมกิจกรรมผลิตภัณฑ์ประชารัฐและกิจกรรมของกองทุน เช่น โรงงานน้ำดื่มบ้านมะเกลือใหม่ มาตรฐาน อ.ย. เสริมรายได้เศรษฐกิจชุมชน ช่วยแก้ปัญหาคุณาพน้ำดื่มในพื้นที่ ทำให้ประชาชนได้มีน้ำดืมราคาถูกและมีมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี ด้วย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัด เกี่ยวกับโครงการจังหวัดที่จะเสนอ ต่อ ครม.สัญจร ซึ่งจะมีขึ้นในภาคอีสานในวันที่ 28 -29 สิงหาคม 2560 และได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากอุทกภัย มีจังหวัดอุบลราชธานี 1 ราย, จังหวัดศรีสะเกษ 3 ราย จากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่บ้านคุยสำโรง บ้านดอนแก้ว และบ้านปากเป่ง จ.ยโสธร