สุวิทย์ เมษินทรีย์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ-ปฏิรูปประเทศ เตรียมตั้งบอร์ดสภาพัฒน์ใหม่

0
375
image_pdfimage_printPrint

ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเดือนสิงหาคม 2560 นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือ สภาพัฒน์เตรียมตั้งบอร์ดชุดใหม่ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร เฟ้นหาคนมีความสามารถตรงตามยุทธศาสตร์ชาติ-การปฏิรูปประเทศ หวังเดินหน้าฟิวเจอร์แล็บ ศึกษาแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต พร้อมเร่งหารือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพิ่มคน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) ชุดปัจจุบันซึ่งมีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานนั้น จะหมดวาระลง ซึ่งในการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่เป็นช่วงเวลาเดียวกับช่วงที่ต้องปรับโครงสร้าง สศช. ดังนั้น องค์ประกอบของบอร์ดชุดใหม่จะต้องสอดคล้องกับภารกิจของ สศช.และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี และวาระการปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สศช.เป็นฝ่ายเลขาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ การปรับองค์ประกอบของบอร์ด สศช.จะมีบอร์ดชุดใหญ่และมีบอร์ดชุดย่อยเพิ่มขึ้นมาอีก 6 ชุด เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน โดยผู้จะเข้ามาเป็นกรรมการนั้น จะมีทั้งคนรุ่นใหม่และคนที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน

“ภารกิจของ สศช.ในอนาคต เป็นผู้วางกลยุทธ์ของชาติ (National Strategies) กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ คือ เปลี่ยนจากนักวางแผนเป็นนักยุทธศาสตร์ชาติ โดยผนวกเรื่องการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินเข้าไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ การปฏิรูปโดยการ reform และ transform ซึ่ง สศช. จะต้องเป็นผู้ที่มาช่วยดูว่าประเทศจะปรับเปลี่ยนไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการพัฒนาเพียงอย่างเดียว สศช.ต้องมี ฟิวเจอร์แล็บเพื่อศึกษาแนวโน้มอนาคต โฟกัสสิ่งที่ประเทศต้องเตรียมรับมือ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การพัฒนาเมืองในภูมิภาคต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับการที่ก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 รวมถึงการพัฒนาไทยให้เป็นประตูของกลุ่มประเทศ CLMV มีการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดต้องมีคณะกรรมการที่มีความรู้แต่ละด้านเข้ามาดูแล”

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า กฏหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการภายใต้กฏหมายทั้ง 2 ฉบับ รวม 2 คณะ ซึ่ง สศช.จะต้องเป็นฝ่ายเลขาธิการทั้ง 2 คณะ

ส่วน พ.ร.บ. สศช. ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเมื่อกฏหมายมีผลบังคับแล้วจะเปิดทางการ สศช. สามารถดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน สำหรับความคืบหน้าการปรับองค์กรที่รองรับกับภารกิจที่เกิดขึ้นนั้น สศช.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในส่วนการเพิ่มกำลังคน

สศช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ปรับบทบาทเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เมื่อสิ้นปี 2579 ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีเทคโนโลยี องค์ความรู้ในการทำงานที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก สศช.ต้องเป็นองค์กรทางวิชาการระหว่างประเทศ นำความรู้ต่างๆมาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศให้มากที่สุด ซึ่งยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ท้าทาย”