สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทย ปัญหาใหญ่สังคมสูงวัย

0
605
image_pdfimage_printPrint

ปี 2559 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 16.5 และคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 26.6 เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเด็นที่พูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือเศรษฐานะของประชากร ทว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาจากโรคทางระบบความเสื่อมของร่างกาย หนึ่งในนั้นคือสุขภาพช่องปาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จึงได้จัด
เวทีวิชาการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบายประกอบการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทย
ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้จัดการโครงการการทบทวนสถานการณ์ความต้องการ
ระบบและเครื่องมือที่จะตอบสนองต่อปัญหาของผู้สูงอายุ ในประเทศไทยและการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง กล่าวถึงการทำวิจัยประเด็นสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทยว่า เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นแผนระยะ 20 ปี จะเริ่มในปี 2565 (ปัจจุบันอยู่ในแผนฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545-2564) โดยได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
ทพญ.วรางคนา เวชวิธี ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน และ ทพญ.ชื่นตา วิชชาวุธ กล่าวถึงผลสำคัญที่ได้จากการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบาย “สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุไทย มองปัจจุบันสู่อนาคต”
จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากประเทศไทยปี 2560 พบว่าผู้สูงอายุวัย 60 – 75 ปี สูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 8.7 และเพิ่มเป็นร้อยละ 31 ในวัย 80 – 85 ปี สาเหตุจากโรคฟันผุและโรคปริทันต์ ซึ่งโรคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากกว่าการไม่มีฟันเหลืออยู่เลย
แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสิทธิ์รับบริการด้านสุขภาพช่องปาก ทั้งด้านส่งเสริมป้องกัน รักษา และฟื้นฟู แต่ปัญหาคือไม่สามารถเข้าถึงบริการ เพราะเดินทางลำบาก ไม่มีคนพาไป รอคิวนาน เนื่องจากต้องเข้ารับบริการในภาครัฐเท่านั้น ในต่างจังหวัดผู้สูงอายุสะดวกที่จะใช้บริการจาก รพ.สต.ซึ่งส่วนใหญ่มีทันตาภิบาลประจำอยู่ (ทันตาภิบาลมีหน้าที่ให้ความรู้และป้องกันการเกิดโรคปริทันต์ รวมถึงการตรวจ ขูดหินน้ำลาย อุดฟันง่ายๆ และถอนฟันน้ำนม)
ทพญ.วรางคนา เวชวิธี มีความเห็นว่าสิ่งที่ควรดำเนินการในแผน 3 คือ 1.ต้องให้ผู้สูงอายุดูแลตนเองได้ เพื่อไม่ให้โรคกลับมาอีก 2.หน่วยบริการควรมีระบบบริการรองรับครบวงจร โดยเทียบเคียงกับงานดูแลเด็กที่มีการตรวจตั้งแต่แม่เริ่มตั้งครรภ์ กระทั่งเด็กเติบโตและเข้าโรงเรียน
ในส่วนการให้ข้อมูลทำได้ 2 ช่องทางคือผ่านชมรมผู้สูงอายุในชุมชนและระบบออนไลน์
“ขณะนี้ให้ข้อมูลผ่านชมรมและวัด out put เอาท์พุทว่าเข้าถึงข้อมูลมากน้อยแค่ไหน อีกขาหนึ่งคือพัฒนาระบบบริการรองรับ ทันตาภิบาลเป็นช่องทางสำคัญ เพราะผู้สูงอายุเดินทางไกลไม่สะดวก อยากให้มีทันตาภิบาลดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องผลักดันการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุด้วย” ทพญ.วรางคณา กล่าว
ทพญ.ชื่นตา วิชชาวุธ นักวิจัยอิสระ ให้ภาพการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่จังหวัดเชียงใหม่ และนครศรีธรรมราชว่า ชมรมผู้สูงอายุหรือโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นสถานที่ที่ผู้ติดสังคมมาเข้าร่วมกิจกรรม หลายแห่งมีการให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องปาก มีทันตาภิบาลเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษา รวมทั้งออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดเตียง รพ.สต.บางแห่ง มีทันตแพทย์หมุนเวียนไปปฏิบัติงาน แต่เน้นการรักษาไม่ใช่ป้องกัน
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้มีฟันดี 20 ซี่ ในวัย 80 ปี มีดังนี้
1.เร่งผลิตทันตาภิบาล/นักวิชาการสาธารณสุขด้านทันตสาธารณสุข ลงไปใน รพ.สต.เพิ่มอีกปีละกว่า 1,500 คน เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในระดับตำบล 2.เพิ่มการเข้าถึงบริการโดยระบบบริการรัฐร่วมเอกชน ให้ผู้สูงอายุรับบริการจากคลินิกได้ตามสิทธิที่ยังขาดการบริการ ได้แก่ อุด ขูด ถอน ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม โดยไม่ต้องร่วมจ่าย
3.ทันตแพทยสภา กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
4.ให้กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบบริการทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกกลุ่ม ตั้งแต่บริการทันตสาธารณะสุขในชุมชนที่สามารถค้นหาภาวะผิดปกติและส่งต่อไปยังระบบที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างชุมชน ไปยัง รพ.สต., โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
5.ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงบประมาณเพื่อประเมินผลติดตามสถานการณ์เรื่องทันตสุขภาพของประชาชนไทยกลุ่มต่างๆ ทุก 2 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการทันตสุขภาพ
ในเวทีเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนามีข้อเสนอแนะบางประเด็น อาทิ
ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาวะ กล่าวถึงการเข้าถึงบริการว่า อาจทำเป็นเป็น mobile service โมบายล์เซอร์วิสให้คนไข้ลงทะเบียนไว้ และมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไปให้บริการในพื้นที่ ส่วนการพัฒนาหลักสูตรสำหรับทันตแพทย์ศาสตรบัณฑิต
ในเรื่องผู้สูงอายุ ควรทำเป็นคอร์สสั้นๆ เพื่อปรับให้ร่วมสมัยตลอดเวลา เพราะความรู้ด้านทันตกรรมในผู้สูงอายุ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ทพ.พิชัย อัศวินใจเพ็ชร ตัวแทนจากสมาคมทันตแพทย์เอกชนไทย เสนอว่าว่าถ้าสามารถให้ภาครัฐร่วมดำเนินการกับเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม จะแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการได้ เพราะจำนวนทันตแพทย์ในประเทศไทยเทียบกับคนไข้สมดุลกัน เพียงแต่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ทำงานภาคเอกชน และเสนอว่าหากมีกฎหมายระบุว่า ภาคเอกชนต้องแบ่งเวลามาร่วมงานกับภาครัฐ 15-20 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้คนไข้เข้าถึงบริการมากขึ้น
ทพ.ดร.ทรงวุฒิ ดวงรัตนพันธุ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นว่า ควรกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสถานบริการใกล้บ้านอย่าง รพ.สต. หรือเทศบาล เพื่อให้มีงบประมาณดำเนินการและพัฒนาบุคลากร รวมทั้งมีโจทย์ของตนเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง เช่น อายุ 80 ปีต้องมีฟันเหลือ 20 ซี่ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุในต่างจังหวัดแม้มีฟันไม่ถึง 20 ซี่ แต่เขาอาจมีความสุขดี
“ผมอยากให้เราเห็นภาพใหญ่ ไม่ควรเอาตัวชี้วัดเป็นเป้าหมายหรือบังคับให้พื้นที่ เช่น ผู้สูงอายูใส่ฟันปลอมครบกี่ปาก ส่วนกลางต้องปรับท่าทีและกระจายอำนาจให้เขตสุขภาพดูแล และมีเป้าหมายของตัวเอง ผมคิดว่าหัวใจสำคัญสุดคือ เราต้องพัฒนาคน พัฒนาทันตบุคลากร พัฒนาสหวิชาชีพ และพัฒนาประชาชน” ทพ.ดร.ทรงวุฒิ กล่าวในตอนท้าย