สี่ประเทศ ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบการผลิตข้าวอัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

0
841
image_pdfimage_printPrint

บริษัท Mars Food บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด กรมการข้าวและ GIZ ร่วมเปิดตัว “โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยจำนวน 1,200 ราย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้งพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“โครงการข้าวหอมมะลิยั่งยืน” จะดำเนินงานเป็นระยะเวลา 2.5 ปี (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 – 2563) โดยมีภาคีความร่วมมือหลัก ได้แก่ บริษัท Mars Food บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด (Ebro Foods S.A) กรมการข้าวและ GIZ โครงการมุ่งเป้าที่จะส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 1,200 รายจาก 12 ศูนย์ข้าวชุมชนในจังหวัดร้อยเอ็ด ในการผลิตข้าวหอมมะลิยั่งยืนจำนวน 3,500 ตัน

นางสาวศินีนาฏ จุ้ยจุลเจิม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท Mars Food กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานของ Mars Food ที่จะสรรหาข้าวจากเกษตรกรที่ใช้มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform –SRP) ในปีพ.ศ. 2559 Mars Food ประสบความสำเร็จในการสรรหาข้าวบาสมาติกทั้งหมดจากเกษตรกรที่ปฏิบัติงานตามมาตรฐาน SRP ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของการสรรหาแหล่งข้าวทั้งหมด และต่อจากนี้ Mars Food จะทำงานร่วมกับบริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด (Ebro Foods S.A) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกรมการข้าว ในการสรรหาข้าวหอมมะลิไทยที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนเพิ่มเติม พวกเรามั่นใจว่าพวกเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ข้าวหอมมะลิไทยได้มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ผลิตข้าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสิ่งแวดล้อม”

ดร.แมทเทียส บิกเคล ผู้อำนวยการแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทย-เยอรมัน ภาคเกษตรกรรมของ GIZ กล่าวว่า “ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว บริษัท Mars Food บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด (Ebro Foods S.A) และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในประเทศไทย โครงการจะสนับสนุนเกษตรกรในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน (SRP) การส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิต การส่งเสริมการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่ได้คุณภาพ การเพิ่มทักษะการบริหารจัดการให้แก่กลุ่มเกษตรกร การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยในการตรวจสอบความปลอดภัยในการผลิตข้าวและการควบคุมคุณภาพการผลิต ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและต่างประเทศในการรับซื้อข้าวยั่งยืน นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าว ยังมีเป้าหมายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและปรับปรุงทักษะ ความรู้ทางการเงินของสหกรณ์การเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”

นายอิกนาซีโอ ยูสเต ซานเชส กรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด กล่าวว่า “ในส่วนของ Ebro Foods มองว่าโครงการเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานข้าว พวกเราเชื่อมั่นว่าวิธีที่ดีสุดในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมข้าว ก็คือ ความร่วมมือจากพันธมิตร ซึ่งพวกเรามีภาคีที่เข้มแข็งในการดำเนินงานอย่างบริษัท Mars Food องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กรมการข้าว โรงสีและเกษตรกร ปัจจุบันมีการหารือถึงความยั่งยืนในภาคการผลิตข้าวที่ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วย”

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “ข้าวหอมมะลิได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวรสชาติดีที่สุดในโลกและประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวลำดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ตามเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตข้าว ยังคงเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำที่สุดในภาคการเกษตร เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูงและราคาข้าวที่ผันผวน ดังนั้น กรมการข้าวจึงเข้าร่วมโครงการเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพข้าวที่ยั่งยืน ซึ่งกรมการข้าวมีบทบาทหน้าที่หลักในการวางแผนและดำเนินการเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายข้าวแห่งชาติ ผ่านการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว การปฏิบัติของเกษตรกร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและมาตรฐานคุณภาพข้าว จากการดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพดี ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงสามารถเพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้เรายังคาดหวังว่าโครงการจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถหารายได้เข้าชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย”