สิ้นไตรมาสสามปี 58 เบี้ยประกันชีวิตรับรวมเกือบ 4 แสนล้าน โต 4.61%
เบี้ยประกันชีวิตรับรวม ณ สิ้นไตรมาสสาม ปี 2558 (มกราคม-กันยายน) มีทั้งสิ้น 390,903 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.61 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 122,718 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 5.88 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 268,185 ล้านบาท โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 83 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 10.23 ในขณะที่การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตยังคงครองอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 49.24 ของเบี้ยประกันชีวิตรับทั้งหมด รองลงมาเป็นการขายผ่านธนาคาร สัดส่วนร้อยละ 43.95
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สถิติเบี้ยประกันชีวิตรับ และสถิติแยกตามช่องทางการจำหน่าย 9 เดือนของปี 2558 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2558 ที่สมาคมประกันชีวิตไทยรวบรวมได้ในขณะนี้ มีดังนี้
1. เบี้ยประกันชีวิตรับรวม มีทั้งสิ้น 390,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 4.61 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมสูงสุด หรือมีขนาดใหญ่สูงสุด 7 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 บจ.เอ.ไอ.เอ. มีจำนวน 84,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 21.52
อันดับที่ 2 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต มีจำนวน 65,664 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 16.80
อันดับที่ 3 บมจ.ไทยประกันชีวิต มีจำนวน 49,240 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 12.60
อันดับที่ 4 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต มีจำนวน 42,747 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.94
อันดับที่ 5 บมจ.กรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต มีจำนวน 40,297 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.31
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต มีจำนวน 31,853 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 8.15
อันดับที่ 7 บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต มีจำนวน 20,506 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการตลาดร้อยละ 5.25
รวม 7 อันดับแรก ครองสัดส่วนการตลาดร้อยละ 85.57 และอีก 16 บริษัทที่เหลือครองสัดส่วนการตลาด ร้อยละ 14.43
2. เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ จะพิจารณาจากจำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกรวมกับเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว ในรอบ 9 เดือน มีทั้งสิ้น 122,718 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 5.88 บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่สูงสุด หรือมีการขยายงานสูงสุด 7 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต จำนวน 27,774 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 22.63
อันดับที่ 2 บจ.เอ.ไอ.เอ. จำนวน 19,050 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 15.52
อันดับที่ 3 บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำนวน 14,770 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 12.04
อันดับที่ 4 บมจ.กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จำนวน 13,949 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 11.37
อันดับที่ 5 บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 12,651 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 10.31
อันดับที่ 6 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต จำนวน 6,736 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 5.49
อันดับที่ 7 บมจ.พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำนวน 5,945 ล้านบาท มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 4.84
รวม 7 อันดับแรก ครองสัดส่วนการตลาดร้อยละ 82.20 และอีก 17 บริษัทที่เหลือครองสัดส่วนการตลาด ร้อยละ 17.80
3. เบี้ยประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางการจำหน่าย มีดังนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 192,824 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 49.33 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 4.98 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 171,804 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 43.95 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 4.39
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง 11,697 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.99 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2.48
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ 14,578 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 3.73 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 4.04
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราการเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกเป็นอัตราการเติบโตที่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ และเบี้ยประกันชีวิตรับรวม
สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้าย ปี 2558 คาดว่าเบี้ยประกันชีวิตจะยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่ก้าวกระโดดก็ตาม ทั้งนี้ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามทางภาครัฐยังคงมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อุตสาหกรรมประกันชีวิตสามารถเติบโตต่อไปได้ และขอฝากว่า สำหรับผู้มีเงินได้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี สามารถวางแผนทางการเงินเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของภาครัฐ การซื้อประกันชีวิตก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับการหักลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์แบบบำบาญ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น ซึ่งประกันชีวิตแบบบำนาญนี้เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายข้อมูลเพื่อการพัฒนาธุรกิจ สมาคมประกันชีวิตไทย โทรศัพท์ 0-2679-8080 ต่อ 532 หรือ Download ข้อมูลสถิติได้จาก http://www.tlaa.org/2012/statistics.php